วันนี้ (10 สิงหาคม 2567) นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกรณีที่มีการเผยแพร่ข้อมูลว่า ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการดิจิทัลวอลเล็ตไม่สามารถนำเงินสดออกมาใช้จ่ายได้ แต่สามารถไปใช้จ่ายร้านค้าของนายทุนได้ ทางสำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงพาณิชย์ ได้ตรวจสอบเรื่องดังกล่าวและชี้แจงว่า มีการบิดเบือนในเนื้อหา เนื่องจากวิธีการใช้จ่ายระหว่างประชาชนและผู้ประกอบการร้านค้ามีความแตกต่างกัน โดยมีวิธีการใช้จ่ายเงิน ดังนี้
รอบที่ 1 เป็นการใช้จ่ายระหว่างประชาชนกับร้านค้าขนาดเล็กจนถึงร้านค้าสะดวกซื้อขนาดเล็ก
1.ประชาชนต้องชำระค่าสินค้าที่เข้าร่วมโครงการฯ ผ่านระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ ให้แก่ผู้ประกอบการร้านค้า ที่มีลักษณะเข้าข่ายเป็นร้านค้าขนาดเล็กจนถึงร้านสะดวกซื้อขนาดเล็กตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด โดยไม่รวมห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีก – ค้าส่งสินค้าขนาดใหญ่ระดับประเทศ และระดับท้องถิ่น
2.ต้องมีการซื้อ – ขายสินค้ากันจริง
3.เป็นการใช้จ่ายเชิงพื้นที่ในระดับอำเภอ โดยประชาชนต้องมีที่อยู่ในทะเบียนบ้านในอำเภอเดียวกันกับสถานประกอบการของผู้ประกอบการร้านค้าขนาดเล็ก
4.การซื้อ – ขายสินค้า ผู้ซื้อและผู้ขายจะต้องมีการทำธุรกรรมซื้อขายและสแกน QR Code เพื่อชำระค่าสินค้ากันแบบพบหน้า (face-to-face) และไม่มีกระบวนการใด ๆ ในการซื้อขายที่ดำเนินการผ่านช่องทางออนไลน์ หรือผ่านคนกลาง ไม่ว่าด้วยวิธีการใด และไม่ให้ทำซ้ำ ส่งต่อ หรือวิธีการอื่นใดกับ QR Code ชำระค่าสินค้า เพื่อหลีกเลี่ยงการทำธุรกรรมแบบพบหน้าดังกล่าว
.
รอบที่ 2 เป็นต้นไป เป็นการใช้จ่ายระหว่างร้านค้ากับร้านค้า
1.ผู้ประกอบการร้านค้าต้องชำระค่าสินค้าที่เข้าร่วมโครงการฯ ผ่านระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ ให้แก่ผู้ประกอบการร้านค้าอีกแห่งหนึ่ง
2.ต้องมีการซื้อ – ขายสินค้ากันจริง
.
โดยร้านค้าไม่สามารถถอนเงินสดได้ทันทีหลังประชาชนใช้จ่าย แต่ร้านค้าจะสามารถถอนเงินสดได้เมื่อมีการใช้จ่ายตั้งแต่รอบที่ 2 เป็นต้นไป และจะถอนเงินสดได้เฉพาะร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษี และมีคุณสมบัติ ดังนี้
1.ร้านค้าที่อยู่ในระบบ ภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ ภาษีเงินได้นิติบุคคล หรือ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเฉพาะผู้มีเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร เว้นแต่ร้านค้าที่ได้รับยกเว้นภาษีตามประมวลรัษฎากร โดยร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษีข้างต้นต้องมีการปฏิบัติหน้าที่ทางภาษี ดังนี้
1.1กรณีร้านค้าที่ประกอบกิจการตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป จะต้องเป็นผู้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือภาษีเงินได้นิติบุคคล หรือภาษีมูลค่าเพิ่ม ในปี 2565 และ 2566 ติดต่อกัน 2 ปี
1.2กรณีร้านค้าที่ประกอบกิจการน้อยกว่า 2 ปี จะต้องเป็นผู้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือภาษีเงินได้นิติบุคคล หรือภาษีมูลค่าเพิ่ม ติดต่อกันตั้งแต่เริ่มประกอบกิจการจนถึงปัจจุบัน
1.3ร้านค้าใหม่ที่ยังไม่ครบกำหนดยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ในปีภาษีแรกหรือรอบระยะเวลาบัญชีแรกจะพิจารณาจากการยื่นแบบภาษีมูลค่าเพิ่มเท่านั้น
.
2.ร้านค้าต้องใช้หมายเลขโทรศัพท์แบบรายเดือนในการลงทะเบียนรับสิทธิ์
.
“ข้อมูลที่มีการโพสต์ และแชร์ต่อในขณะนี้ เป็นข้อมูลบิดเบือนจากข้อเท็จจริง จึงขอความร่วมมือประชาชน ไม่แชร์ ไม่ส่งต่อข่าวดังกล่าว เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดความสับสนและเสียหายต่อภาพลักษณ์ของประเทศได้ ขอให้ประชาชนติดตามข่าวสารจากสำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงพาณิชย์ ที่เว็บไซต์ www.moc.go.th หรือโทร. Call center 1203 (02-507-7000,02-507-8000)”นายคารม ย้ำเตือน