กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ตรวจพบข่าวปลอมที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมออนไลน์รายสัปดาห์ ที่ประชาชนให้ความสนใจสูงสุดอันดับที่ 1 เรื่อง “สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) เปิดเพจเฟซบุ๊กใหม่” รองลงมาคือเรื่อง “ก.ล.ต. รับรองเว็บไซต์เทรดทองออนไลน์” โดยขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข่าวปลอม เลือกเชื่อ เลือกแชร์ ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ หวั่นตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ หรืออาจทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สิน และมีผลกระทบต่อประชาชนในสังคมเป็นวงกว้าง
.
นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในฐานะโฆษกกระทรวงฯ กล่าวถึงผลการมอนิเตอร์และรับแจ้งข่าวปลอมของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ระหว่างวันที่ 12 – 18 กรกฎาคม 2567 พบข้อความที่เข้ามาทั้งหมด 879,902 ข้อความ โดยมีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) ทั้งสิ้น 325 ข้อความ
.
สำหรับช่องทางที่มีการพบเบาะแสมากที่สุด คือ ข้อความที่มาจาก Social Listening จำนวน 296 ข้อความ ตามมาด้วยการแจ้งเบาะแสผ่าน Line Official จำนวน 25 ข้อความ และการแจ้งเบาะแสผ่านช่องทาง Facebook จำนวน 4 ข้อความ รวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 269 เรื่อง และจากการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับผลการตรวจสอบกลับมาแล้ว 117 เรื่อง โดยในจำนวนนี้มีข่าวปลอมที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมออนไลน์ที่ประชาชนให้ความสนใจมากที่สุด จำนวน 10 อันดับ ได้แก่
อันดับที่ 1 : เรื่อง สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) เปิดเพจเฟซบุ๊กใหม่
อันดับที่ 2 : เรื่อง ก.ล.ต. รับรองเว็บไซต์เทรดทองออนไลน์
อันดับที่ 3 : เรื่อง ป.ป.ท. เปิดเพจเฟซบุ๊กใหม่ ชื่อเพจศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์
อันดับที่ 4 : เรื่อง พนักงานฝ่ายบริการแนะนำการลงทุน ได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต. ชวนลงทุนระยะสั้น
อันดับที่ 5 : เรื่อง เพจกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพกระทรวงยุติธรรม เปิดให้ส่งหลักฐานเพื่อรับเงินคืน
อันดับที่ 6 : เรื่อง สตช. ร่วมกับ ปปง. เปิดลงทะเบียนยื่นสิทธิคุ้มครองในคดี Hybrid Scam ผ่านเพจช่วยเหลือประชาชน
อันดับที่ 7 : เรื่อง เจ้าหน้าที่บัญชีสำนักงาน ก.ล.ต. แจ้งให้ชำระค่าธรรมเนียมการลงทุน
อันดับที่ 8 : เรื่อง ตลาดหลักทรัพย์ฯ เปิดให้ลงทุน HSH Gold Futures มี Broker คอยแนะนำ
อันดับที่ 9 : เรื่อง เปิดขายกองทุนรวมทองคำไทย ผลตอบแทน +37% รับรองโดย ก.ล.ต.
อันดับที่ 10 : เรื่อง CP ALL ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์ฯ และ ก.ล.ต. เปิดโอกาสให้ลงทุนกับกองทุนหุ้น
.
“เมื่อพิจารณาจากข่าวปลอมที่เกี่ยวกับอาชญากรรมออนไลน์ จาก 10 อันดับ ข้างต้น พบว่าส่วนใหญ่เป็นข่าวที่มีการอ้างถึงหน่วยงานรัฐ โดยเฉพาะอันดับ 1 เรื่องการแอบอ้างเป็นเพจของสำนักงาน ป.ป.ง. ซึ่งเป็นเพจปลอมที่ได้รับการตรวจสอบแล้ว โดยข้อมูลจากสำนักงาน ป.ป.ง. แจ้งว่า สำนักงาน ปปง. มีเพจ Facebook เพียงเพจเดียวชื่อ “สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน – ปปง.” โดยมีสัญลักษณ์เครื่องหมายถูกสีฟ้า (Meta Verified) อยู่ด้านหลังชื่อเพจ ซึ่งผ่านการยืนยันตัวตนเรียบร้อยแล้ว (ลิงก์ : https://www.facebook.com/AMLOTHAILAND/) สำหรับเพจปลอมที่มิจฉาชีพใช้แอบอ้าง หากหลงเชื่อโดยไม่ตรวจสอบรายละเอียดข้อเท็จจริง อาจทำให้เกิดความเสียหายต่อข้อมูลส่วนบุคคลและทรัพย์สิน หรือหากมีการแชร์ เผยแพร่ต่อๆกันไป อาจกระทบต่อประชาชนส่วนใหญ่ในสังคมได้” นายเวทางค์กล่าว
.
อย่างไรก็ตาม ดีอี มีความห่วงใยประชาชน เรื่องความตระหนักรู้เท่าทันข่าวปลอมที่ถูกแพร่กระจายบนสื่อออนไลน์ โซเชียล ซึ่งหากขาดความรู้เท่าทัน ส่งต่อข้อมูลข่าวปลอม ทำให้เกิดการหลงเชื่อ สร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สิน หรือข้อมูลส่วนบุคคล และอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนในสังคมเป็นวงกว้าง ดังนั้นจึงควรตรวจสอบข้อเท็จจริงของข่าวหรือลิงก์เว็บไซต์ให้แน่ชัด
.
สามารถแจ้งเบาะแส ข่าวปลอม และอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบ โทรสายด่วน 1111 (24 ชม.) | Line ID: @antifakenewscenter | เว็บไซต์ www.antifakenewscenter.com