นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงการยกระดับบริการรถไฟว่า ขณะนี้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เตรียมอัปเกรดบริการในส่วนของรถไฟชั้น 3 โดยแนวคิดปรับปรุงรถไฟชั้น 3 เป็นรถปรับอากาศทั้งหมด รวมถึงปรับเบาะที่นั่งให้มีความสะดวกสบายมากขึ้น
.
ปัจจุบันพบว่าบริการรถไฟมีสัดส่วนที่นั่ง แบ่งเป็น รถบริการเชิงสังคม มีประมาณ 300-400 คัน มีขีดความสามารถบริการที่ 26 ล้านที่นั่ง/ปี แต่มีผู้ใช้บริการจริงเพียง 18.6 ล้านคนต่อปี ส่วนรถบริการเชิงพาณิชย์ มีจำนวนที่นั่งบริการได้เพียง 9 ล้านที่นั่งต่อปี จำนวนผู้ใช้บริการเต็มจำนวนและมีความต้องการเพิ่มอีกประมาณ 9 ล้านที่นั่ง
.
จะเห็นได้ว่าข้อมูลที่พบนี้ยังมีผู้ต้องการใช้บริการรถเชิงพาณิชย์รออีกเป็นจำนวนมากแต่ รฟท.ไม่มีรถบริการได้เพียงพอ ซึ่งนโยบายขณะนี้ได้ให้ รฟท.ยกระดับรถไฟชั้น 3 ทยอยปรับปรุงเป็นรถปรับอากาศทั้งหมด ส่วนราคาที่เพิ่มขึ้นตามระเบียบ การให้บริการรถเชิงพาณิชย์ ซึ่งรัฐบาลจะดูแลประชาชนกลุ่มเปราะบางให้สามารถใช้บริการได้ตามปกติผ่านบัตรสวัสดิการ ในขณะที่ประชาชนได้รับบริการที่ดีขึ้น
.
“ที่ผ่านมาไม่เคยทำงานแบบเชิงวิเคราะห์ แต่ครั้งนี้มีการสำรวจและนำตัวเลขมาวิเคราะห์ ทำให้เห็นภาพว่ามีผู้ต้องการใช้บริการรถเชิงพาณิชย์อีกประมาณ 9 ล้านที่นั่งต่อปี ดังนั้น เป้าหมายที่ต้องการคือเพิ่มขบวนรถเชิงพาณิชย์ให้สามารถรองรับได้เพิ่มอีกประมาณ 9 ล้านที่นั่ง เพื่อตอบสนองผู้ที่ต้องการเดินทางในขณะนี้ก่อน ขณะที่เป้าหมายสุดท้ายคือรถไฟไทยจะไม่มีรถร้อนอีกต่อไป
.
นายอวิรุทธ์ ทองเนตร รองผู้ว่าการ รฟท. กล่าวว่า รฟท.ได้กำหนดแผนปรับปรุงรถโดยสารชั้น 3 (พัดลม) และได้เริ่มทยอยดำเนินการแล้ว โดยอยู่ในขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อดำเนินการปรับปรุงประมาณ 40 คัน โดยใช้งบประมาณปี 2567 และปี 2568 จะทยอยเข้าปรับปรุงอีกประมาณ 90 คัน หรือรวมชุดแรกประมาณ 130 คัน เนื่องจากจะต้องถอนรถออกจากบริการในเส้นทางเพื่อนำมาเข้ากระบวนการปรับปรุง ซึ่งจะต้องไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการให้บริการประชาชน
.
หากสามารถปรับปรุงรถชั้น 3 มาเป็นขบวนรถไฟเชิงพาณิชย์จำนวน 130 คันนี้ คิดเป็นจำนวนที่นั่งเพิ่มอีกประมาณ 3.2 ล้านที่นั่งต่อปี โดยมีต้นทุนค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงเปลี่ยนเบาะที่นั่งและติดระบบปรับอากาศเฉลี่ยประมาณ 6 ล้านบาทต่อคัน