“พิพัฒน์” สั่งปรับหลักสูตรทักษะด้านภาษา & Digital

Highlight, การศึกษา, สังคม
1 กรกฎาคม 2024

กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ขานรับข้อสั่งการ รมว.แรงงาน หลังหารือร่วมคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน เร่งรับรองหลักสูตร Soft skill ด้านภาษา & Digital ผลักดันให้ สปก.ส่งเสริมทักษะฝีมือแรงงานรับยุค AI และรับสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมฯ
.

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า การพัฒนาทักษะแรงงานด้านซอฟท์สกิล ภาษาอังกฤษและดิจิทัลให้สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนากำลังคนของประเทศนั้น กระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้ดำเนินการขับเคลื่อนภารกิจอย่างเข้มข้นเสมอมา โดยเฉพาะแรงงานในสถานประกอบกิจการ หากได้รับการพัฒนาทักษะในด้านดังกล่าวจะสามารถยกระดับฝีมือให้เป็นแรงงานคุณภาพ ช่วยลดต้นทุนการผลิต  และสามารถปรับตัวทำงานร่วมกับ AI ได้ โดยไม่ถูกหุ่นยนต์มาแทนที่งาน และการมีทักษะด้านภาษาจะช่วยให้ฐานรากแรงงานมีความเข้มแข็งรองรับการเข้ามาลงทุนของชาวต่างชาติ หนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ได้กำชับและเน้นย้ำให้กรมเร่งดำเนินการและส่งเสริมสถานประกอบกิจการพัฒนาทักษะให้แก่แรงงานอย่างเร่งด่วน ซึ่งตั้งเป้าหมายการพัฒนาทักษะแรงงานปี 2568 เน้นทักษะด้านภาษาและดิจิทัล กว่า 100,000 คนทั่วประเทศ
.
นางสาวบุปผา  เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวเสริมว่า คณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน หารือร่วมกันสำหรับแนวทางการรับรองหลักสูตรการพัฒนาทักษะด้าน Soft skill กลุ่มทักษะภาษาอังกฤษ & Digital ให้แก่แรงงานทุกกลุ่ม โดยเฉพาะแรงงานในสถานประกอบกิจการ โดยจะมีการปรับปรุงเนื้อหาของหลักสูตรที่เกี่ยวข้อง ผลักดันให้หลักสูตรดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมฯ โดยมุ่งกลุ่มเป้าหมายทุกตำแหน่งงานในสถานประกอบกิจการ พร้อมสร้างแรงจูงใจในการรับสิทธิประโยชน์ต่างๆที่พึงควรได้รับจากการส่งเสริมให้แรงงานของตนเข้ารับการพัฒนาทักษะ จากการดำเนินงานปี 2567  มีเป้าหมายพัฒนาทักษะให้แก่แรงงานด้าน Soft skill และดิจิทัล รวม 41,560 คน ประกอบด้วย ทักษะด้านภาษา จำนวน 18,260 คน ดำเนินการภายใต้ 3 โครงการ ได้แก่ การรองรับการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวคุณค่าสูง การยกระดับเพื่อเพิ่มศักยภาพฝีมือและสมรรถนะแรงงานรองรับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี และการฝึกอบรมภาษาต่างประเทศ ส่วนการพัฒนาทักษะให้แรงงานในด้านดิจิทัลนั้น ปี 2567 เป้าหมาย 23,300 คน  ในปี 2568 ตั้งเป้าหมายสูงกว่าปี 2567 อีกเท่าตัวโดยจะส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการเร่งพัฒนาพนักงานของตนเองในด้านภาษาและดิจิทัลให้มากขึ้นนั่นเอง ซึ่งสอดรับกับนโยบายของรัฐบาล
.

“โลกแห่งการทำงานกำลังเปลี่ยนไปทุกด้าน ทักษะการทำงานเดิมกำลังจะล้าสมัย ทักษะที่กำลังเป็นที่ต้องการในปัจจุบัน ทั้งภาษาและดิจิทัล ถือเป็นทักษะขั้นพื้นฐานที่แรงงานทุกคนต้องมี หากไม่ปรับตัวให้รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว การก้าวสู่ระบบการทำงานจะยากมากขึ้น โอกาสในการสร้างรายได้จะน้อยลง กระทรวงแรงงานโดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงานเล็งเห็นความสำคัญ จึงเร่งที่จะส่งเสริมและสนับสนุนให้แรงงานได้รับการพัฒนาให้มากยิ่งขึ้น” อธิบดีบุปผากล่าว

 

บทความที่เกี่ยวข้อง