“หอการค้าฯ” หนุนขึ้นค่าแรง เงินสะพัดในระบบ ศก. 2-3 หมื่นล้าน คาดพรุ่งนี้ กนง.ขึ้นดอกเบี้ย 0.25%

Highlight, สังคม
9 สิงหาคม 2022

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเปิดเผยว่า แนวโน้มการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอีก 5-8% ที่จะเริ่มตั้งแต่ปี 2566 เห็นด้วยกับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เพราะไม่ได้มีการปรับขึ้นมานานถึง 3 ปี และการจะเริ่มปรับขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2566 ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม ซึ่งปัจจุบันจะเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจบ้างแล้ว อย่างไรก็ดีในบางธุรกิจอาจจะยังมีปัญหาสภาพคล่องอยู่บ้าง ยอดขายยังไม่โดดเด่น ต้นทุนสินค้าสูงขึ้นจากราคาน้ำมันและราคาวัตถุดิบ และบางส่วนยังไม่สามารถปรับขึ้นราคาสินค้าได้ ดังนั้น การที่แต่ละธุรกิจจะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ก็ต้องอยู่ที่การพิจารณาความเหมาะสมของแต่ละกิจการด้วย

 

โดยเมื่อรัฐบาลชี้ว่าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะเริ่มใน ม.ค.66 ก็ทำให้เห็นว่าเศรษฐกิจน่าจะเริ่มฟื้น โดยคาดว่าจะฟื้นไตรมาส 4 ปีนี้ ภาคธุรกิจเริ่มมีกำลังการเงินที่เข้มแข็งแล้ว การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในเดือนม.ค.จึงเหมาะสม เพราะค่าแรงไม่ได้ปรับมา 3 ปี กรอบที่คาดว่าจะปรับขึ้น 5-8% ก็เหมาะสมกับเงินเฟ้อ สอดคล้องกับค่าครองชีพ ทั้งนี้การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำดังกล่าวอาจจะมีผลกระทบต่อภาคธุรกิจที่ใช้จำนวนแรงงานสูง เช่น ธุรกิจในภาคบริการ ร้านอาหาร โรงแรม เป็นต้น ซึ่งอาจทำให้ธุรกิจต้องเลือกใช้กลไกในการลดผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงที่แตกต่างกันไป เช่น การปรับลดคนงาน การปรับราคาสินค้าหรือค่าบริการเพิ่มขึ้น หรือแม้แต่การยอมรับผลกำไรที่น้อยลง เป็นต้น แต่หากเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น และการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำสามารถเริ่มได้ในต้นปีหน้า ก็อาจทำให้ประชาชนสามารถยอมรับกับราคาสินค้าและบริการที่สูงขึ้นได้

 

โดยถ้าปรับค่าแรงขั้นต่ำในต้นปี 2566 ซึ่งเศรษฐกิจอยู่ในช่วงฟื้นตัวพอดี ประชาชนก็น่าจะพร้อมรับกับราคาสินค้าและค่าบริการที่ปรับตัวสูงขึ้นได้จากการที่ค่าแรงขั้นต่ำปรับเพิ่มขึ้น ดังนั้นโดยสุทธิแล้ว การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจให้ถูกกระตุ้นในเชิงบวก มีเงินเข้าไปหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น ทั้งนี้หากมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอีก 5-8% จริงจะทำให้มีเม็ดเงินเพิ่มเข้าไปในระบบเศรษฐกิจอีกเดือนละ 1,500-2,400 ล้านบาท/เดือน หรือคิดเป็นเพิ่มขึ้นปีละ 2-3 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะช่วยผลักดันให้ GDP ในปี 2566 ขยายตัวขึ้นอีก 0.1-0.2% จากเดิม

 

สำหรับการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันพรุ่งนี้ (10 ส.ค.) เชื่อว่า กนง.จะมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% เนื่องจากเงินเฟ้อล่าสุดเดือน ก.ค.ยังอยู่ในระดับสูงที่ 7.6% โดยทั้งปีคาดว่าจะเฉลี่ยอยู่ที่ 6-6.5% สูงกว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ตั้งไว้ที่ 1-3% อยู่มาก

 

“เป้าหมายเงินเฟ้อไม่ควรเกิน 3% มากเกินไป แต่ตอนนี้เงินเฟ้ออยู่ที่ 7% กว่า ยังไงก็ต้องดึงลง คือต้องขึ้นดอกเบี้ยแน่ แต่เศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวไม่เด่นชัด การใช้ดอกเบี้ยต่ำยังเป็นประโยชน์กับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอยู่ เพราะเศรษฐกิจไทยยังต้องการการฟื้นตัวในช่วงไตรมาส 3-4 ดังนั้น กนง.คงต้องขึ้นดอกเบี้ย”

 

โดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ กนง.ไม่จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยครั้งละมากๆ เนื่องจากไม่ได้มีแรงกดดันของค่าเงินบาท เพราะล่าสุดเงินบาทเริ่มปรับแข็งค่า จากก่อนหน้านี้ที่เกือบขึ้นไปแตะระดับ 37 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้น กนง.จึงไม่มีแรงกดดันจากปัจจัยบาทอ่อนค่าที่จะทำให้ต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยในอัตราสูง เพราะจะยิ่งทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้า

 

“ถ้าเงินเฟ้อยังสูง และเศรษฐกิจยังเดินได้ กนง.คงจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งที่เหลือในปีนี้คือ ก.ย.และ พ.ย.ครั้งละ 0.25% รวมทั้งปี (ส.ค.-ก.ย.-พ.ย.) ขึ้นอีก 0.75% ถ้าเราขึ้นดอกเบี้ยช้า gap ดอกเบี้ยของไทยกับต่างประเทศจะยิ่งห่าง กนง.ควรจะปิด gab ถ้าเศรษฐกิจฟื้นได้ดี และเงินเฟ้อเริ่มลดลง แต่ถ้าเศรษฐกิจชะงัก และเงินเฟ้อลงเร็ว กนง.อาจจะเลือกขึ้นดอกเบี้ยอีกแค่ 1 ครั้ง ในเดือนพ.ย.65 ดังนั้นเบื้องต้น คาดว่า กนง.จะขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมพรุ่งนี้แน่นอนอีก 0.25%”

บทความที่เกี่ยวข้อง