เมื่อเวลา 10.00 น.9 มิ.ย. 2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข ได้เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการบูรณาการนโยบายพืชกัญชาและกัญชง ครั้งที่ 1/2565 โดยมีนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ ห้องประชุม301 ชั้น 3 ตึกบัญชาการ1 ทำเนียบรัฐบาล
นายอนุทิน กล่าวว่า คณะกรรมการบูรณาการนโยบายพืชกัญชาและกัญชง ได้รับการแต่งตั้งขึ้นตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 120/2565 เพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลให้การใช้ประโยชน์ของกัญชาและกัญชงเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล ที่ได้ปลดล็อคกัญชาและกัญชงจากยาเสพติดตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย. 2565 เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ให้ประชาชนมีทางเลือกในการดูแลสุขภาพของตนเอง และ เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมเกิดการวิจัยและพัฒนาที่เกี่ยวเนื่อง
ทั้งนี้รัฐบาลตระหนักในประเด็นความกังวลต่อกรณีที่อาจมีการใช้กัญชาและกัญชงในทางที่ไม่เหมาะสมและยืนยันในแนวนโยบายที่รัฐบาลไม่สนับสนุนการใช้ในทางมอมเมาหรือเพื่อสันทนาการ ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมก็มีความห่วงใยและต้องการให้การบริหารจัดการสถานการณ์ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย จึงได้มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการบูรณาการนโยบายพืชกัญชาฯ คณะนี้ขึ้นมา เพื่อวางมาตรการกำกับการใช้ประโยชน์ กำหนดมาตรฐานการผลิตในผลิตภัณฑ์ต่างๆมาตรการคุ้มครองบุคคลเพื่อไม่ให้เกิดการใช้ในทางไม่เหมาะสม ตลอดจนการสื่อสารให้ประชาชนมีความเข้าใจ โดยคณะกรรมการจะทำหน้าที่ไปจนกว่า พ.ร.บ.กัญชา กัญชง จะมีผลบังคับ
สำหรับการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. วานนี้(8 มิ.ย.) ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้มีการที่ได้มีการลงคะแนนรับหลักการร่างกฎหมายอย่างท่วมท้นด้วยคะแนน 373 เสียง แสดงให้เห็นว่าสภาเห็นด้วยกับแนวทางการส่งเสริมให้ใช้ประโยชน์จากกัญชาและกัญชง เพียงแต่ต้องมีมาตรการดูแลที่เหมาะสมป้องกันผลกระทบต่อสังคม ดังนั้น รัฐบาลจะดำเนินการทุกด้านอย่างรัดกุมเพื่อให้เกิดการใช้กัญชาและกัญชงในทางเป็นประโยชน์สูงสุดกับประเทศ
“นับเป็นการเปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของกัญชา กัญชงในประเทศไทย และเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่จะได้ทำความเข้าใจและก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน ประชาชนจะสามารถปลูกเพื่อประโยชน์จากกัญชา กัญชง ส่วนผู้ที่ต้องการทำธุรกิจก็ทำได้ภายใต้ระเบียบกฎเกณฑ์ เพิ่มโอกาสและเกิดความหลากหลายทางธุรกิจ ขณะเดียวกันก็มีการควบคุมการผลิตสารสกัดให้มีคุณภาพมาตรฐาน และมีมาตรการป้องกันการนำไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม ซึ่งคณะกรรมการบูรณาการนโยบายพืชกัญชาฯ จะเข้ามาดูแลไปจนกว่า พ.ร.บ.กัญชากัญชง จะมีผลบังคับเป็นทางการ แต่เชื่อว่าระหว่างนี้จะไม่มีปัญหาเนื่องจาก 3 ปีที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมการในด้านต่างๆ มาโดยต่อเนื่อง และสาธารณสุขก็มีกฎหมายข้อกำหนดต่างๆ ที่สามารถนำมาใช้บังคับเพื่อไม่ให้มีการใช้กัญชากัญชงในทางที่ไม่เหมาะสมได้”นายอนุทิน กล่าว
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบูรณาการนโยบายพืชกัญชาฯ ได้มีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 6 คณะ เพื่อสนับสนุนภารกิจของคณะกรรมการในด้านต่างๆ เพื่อให้ดำเนินการเป็นไปตามเป้าหมายด้วยความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ประกอบด้วย
1)คณะอนุกรรมการด้านการแพทย์และการบำบัดรักษา มีปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน
2)คณะอนุกรรมการด้านการให้ความรู้แก่เยาวชนและประชาชนเพื่อป้องกันผลกระทบทางสังคม มีปลัดกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นประธาน
3)คณะอนุกรรมการด้านการผลิตทางเกษตรกรรม มีปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน
4)คณะอนุกรรมการด้านการป้องกันการลักลอบนำเข้า การผลิตที่ผิดกฎหมาย มีผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นประธาน
5)คณะอนุกรรมการด้านกฎหมาย มีเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นประธาน
6)คณะอนุกรรมการด้านการสื่อสารประชาสัมพันธ์ มีอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์เป็นประธาน
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ในการประชุมครั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการรายงานสถานการณ์กัญชา กัญชงในมิติต่าง พร้อมกับมีข้อเสนอ ข้อห่วงใยในประเด็นต่างๆ ซึ่งรองนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้สำนักงาน อย.ในฐานะฝ่ายเลขานุการ คณะกรรมการฯ รวบรวมทุกข้อเสนอแนะเพื่อมอบหมายต่ออนุกรรมการด้านต่างๆ เพื่อหาแนวทางแก้ไขต่อไป และรองนายกรัฐมนตรีจะนำข้อเสนอแนะจากที่ประชุมไปเสนอต่อกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่อให้เกิดการแปรญัตติที่รอบด้านให้กฎหมายที่กำลังจะออกมาสามารถดูแลการใช้กัญชา กัญชง อย่างปลอดภัยและเกิดประโยชน์สูงสุด
ทั้งนี้ นับแต่รัฐบาลได้เริ่มมีนโยบายผลักดันการใช้ประโยชน์จากกัญชา ด้านการแพทย์มีการกระจายยากัญชาไปยังสถานพยาบาลทั่วประเทศ และมีการจ่ายยากัญชาไปแล้ว1,437,443 หน่วย มีผู้ป่วยที่ได้รับยากัญชาไปแล้วมากกว่า 109,008 ราย มียากัญชาในบัญชียาหลักแห่งชาติทั้งสิ้น 8 ตำรับ ส่วนประโยชน์เชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)ได้มีการให้อนุญาตผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ยา ที่มีการนำกัญชาและกัญชงไปเป็นส่วนประกอบทั้งหมด 1,181 รายการ