นายกฯชื่นชมนักวิจัยไทย พัฒนาชุดตรวจโควิด-19 และวัคซีนป้องกันโควิด-19

Highlight, สังคม
11 สิงหาคม 2021

นายกฯชื่นชมนักวิจัยไทย พัฒนาชุดตรวจโควิด-19 และวัคซีนป้องกันโควิด-19 แบบพ่นจมูก ความสำเร็จของการใช้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม

 

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ชื่นชมทีมนักวิจัยไทยจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ภายใต้การกำกับของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่ผลิตผลงานที่เป็นการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 คือ 1) ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ได้พัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 แบบพ่นจมูก ชนิด Adenovirus-based และ Influenza-based ซึ่งผ่านการทดสอบการกระตุ้นภูมิคุ้มกันในหนูทดลองเรียบร้อยแล้ว พบว่ามีประสิทธิภาพต่อการคุ้มโรคที่เกิดขึ้น ปลอดภัยไม่มีปัญหา และ 2) ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) ได้พัฒนา “NANO COVID-19 Antigen Rapid Test “ เป็นชุดตรวจคัดกรองเชื้อโควิด-19 แบบรวดเร็ว ที่มีความไวและความแม่นยำสูงมาก

 

สำหรับการพัฒนาวัคซีนแบบพ่นจมูก พบว่าการทดสอบในหนูทดลองนอกจากไม่มีอาการป่วยแล้ว ยังมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น จากนี้ จะมีการยื่นเอกสารต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อขอทดสอบในมนุษย์ โดยจะร่วมกับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ วางแผนทดสอบประสิทธิภาพวัคซีนกับเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา ซึ่งหากได้รับอนุมัติเร็ว คาดว่าจะเริ่มทดสอบในมนุษย์เฟสแรกปลายปี 2564 นี้ และต่อเนื่องเฟส 2 ในเดือนมีนาคม ปี65 หากได้ผลดีจะสามารถผลิตออกมาใช้ได้ประมาณกลางปีหน้า

 

ขณะที่ การพัฒนาชุดตรวจคัดกรองเชื้อโควิด-19 แบบรวดเร็ว โดยศูนย์นาโนเทคนั้น มีจุดแข็งด้านการใช้งานที่สะดวก รวดเร็วสามารถตรวจหาตัวเชื้อได้ในเวลาเพียง 15 นาที มีความไว 98% และความจำเพาะสูงถึง 100% ใช้ตรวจคัดกรองผู้ป่วยโควิด-19 เบื้องต้นได้ ช่วยลดปริมาณผู้ป่วยที่ต้องตรวจด้วยวิธีการ RT-PCR ลดค่าใช้จ่าย ลดภาระงานในระบบสาธารณสุข และทางศูนย์ฯกำลังเร่งผลักดันการถ่ายทอดเทคโนโลยีและรูปแบบการใช้ประโยชน์ เพื่อให้สามรถผลิตใช้เองได้ในประเทศ ตอบสนองความมั่นคงทางด้านสาธารณสุขตามนโยบายรัฐบาล

 

นางสาวรัชดา ยังให้ข้อมูลความก้าวหน้าของการวิจัยพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA ใประเทศไทยด้วยว่า ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขณะนี้ได้ทดสอบการฉีดวัคซีน “ChulaCov19” ให้กับอาสาสมัครแล้ว เพื่อศึกษาประสิทธิภาพสูงสุดของปริมาณวัคซีนที่จะสร้างภูมิคุ้มกันอย่างเหมาะสม
ภายใต้การดูแลของทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ พยาบาล และทีมนักวิจัย และลำดับต่อไป จะเข้าสู่การทดสอบทางคลินิก ระยะที่ 2 จำนวน 150-300 คน คาดจะเริ่มต้นฉีดได้ในเดือนส.ค.นี้

 

“นายกรัฐมนตรีติดตามความคืบหน้าและชื่นชมในความสามารถของนักวิจัยไทย ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 คนไทยได้ผลิตผลงานที่เป็นความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นประโยชน์ต่อสังคมอย่างมาก แม้ยังจะต้องใช้เวลาในการทดสอบผลให้แน่ชัดอีกระยะหนึ่ง แต่ความก้าวหน้าต่างๆถือเป็นตัวบ่งชี้ศักยภาพของประเทศที่เราจะสามารถลดการนำเข้าเวชภัณฑ์ เสริมความมั่นคงทางสาธารณสุข และที่สำคัญ ความสำเร็จเหล่านี้จะเป็นแรงบันดาลใจให้เยาวชนสนใจวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเทศต้องการ” นางสาวรัชดา กล่าว

บทความที่เกี่ยวข้อง