“ทิพานัน” ชี้ “สินมั่นคง” ต้องหยุดผลักภาระให้ประชาชนยกเลิกประกันโควิด หลังการประเมินความเสี่ยงผิดพลาดของบริษัทเอง เข้าข่ายเอาเปรียบผู้บริโภค-สัญญาไม่เป็นธรรม จี้ “คปภ.-สคบ.” ดูแลเร่งด่วน ก่อนซ้ำเติมวิกฤติโควิด19
น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ อดีตผู้สมัคร ส.ส.กทม.เขตจอมทอง-ธนบุรี อดีตรองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า วันนี้ลงชุมชนในเขตจอมทอง มีประชาชนถามถึงกรณีที่บริษัทสินมั่นคงประกันภัยได้แจ้งบอกเลิกสัญญากรมธรรม์แบบเจอ จ่าย จบ และ 2 In 1 โดยบริษัทจะคืนเบี้ยประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัย โดยหักเบี้ยประกันภัยสําหรับระยะเวลาที่กรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ได้ใช้บังคับมาแล้วออกตามส่วนนั้น มีความเห็นว่าอาจเป็นการกระทำที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้เอาประกันภัย เป็นการบอกเลิกสัญญาโดยไม่มีเหตุอันสมควร
น.ส. ทิพานัน กล่าวว่า การอ้างภาวะการระบาดของโรคติดเชื้อโควิดที่มีความรุนแรงอย่างต่อเนื่องและมีผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงจนคาดเดาสถานการณ์ไม่ได้มาเป็นเหตุบอกเลิกสัญญานั้นถือว่าไม่เป็นธรรมต่อผู้เอาประกันภัย ไม่นับเป็นเหตุบอกเลิกสัญญา บริษัทประกันภัยควรยึดหลักสุจริตและไม่ละเมิดกฎหมายว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ควรยึดมั่นในการคุ้มครองผู้เอาประกันภัย
“ในวันที่บริษัทประกันภัยประกาศขายสัญญาประกันภัย เจอ จ่าย จบ ในฐานะประชาชนที่เป็นผู้บริโภคก็ตัดสินใจซื้อจากคำโฆษณาชวนเชื่อนั้น เพื่อเป็นหลักประกันให้กับชีวิต ผู้ซื้อประกันก็ปฏิบัติตามข้อบังคับกำหนดของแผนประกันภัยของสินมั่นคงทุกประการ การอ้างสถานการณ์รุนแรงขึ้นจนทำให้การประเมินความเสี่ยงของบริษัทผู้เอาประกันภัยเกิดข้อผิดพลาด เบี้ยประกันภัยที่เคยขายไปอาจไม่คุ้มกับค่าสินไหมทดแทนที่ต้องจ่ายจากการเคลมประกัน ก็ไม่ใช่เหตุที่บริษัทจะบอกเลิกสัญญากับผู้เอาประกันภัยที่ใช้สิทธิสุจริตในการทำสัญญาและไม่เคยผิดสัญญาได้ ที่สำคัญบริษัทต้องไม่ผลักภาระการประเมินที่ผิดพลาดของบริษัทมาที่ประชาชน”น.ส. ทิพานัน กล่าว
น.ส. ทิพานัน กล่าวต่อว่า แม้ว่าในกรมธรรม์จะมีข้อสัญญาข้อ 2.5 การบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัย บริษัทสามารถใช้สิทธิได้ใน 3 กรณี คือ 1. ผู้เอาประกันภัยปกปิดข้อมูลสุขภาพ หรือเปิดเผยข้อมูลไม่ตรงตามความจริง 2. ผู้เอาประกันภัยมีประวัติการเคลมผิดปกติ เคลมบ่อย เคลมจนเกินวงเงิน 3. ผู้เอาประกันภัยทุจริตในการเคลมประกันหรือฉ้อโกงในการเรียกร้องสินไหมเท่านั้น จะบอกเลิกสัญญากับบุคคลทั่วไปที่เอาประกันภัยไม่ได้
การบอกเลิกสัญญาที่เป็นหลักประกันชีวิตในวิกฤตเช่นนี้ โดยหลักมนุษยธรรมก็ไม่ควรทำ ทั้งนี้ คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ต้องดำเนินการดูแลอย่างเป็นธรรมและเร่งด่วนที่สุด ซึ่งการบอกเลิกสัญญาเช่นนี้ อาจเข้าข่ายการเอาเปรียบผู้บริโภค ซึ่งผู้เอาประกันภัยที่ได้รับผลกระทบสามารถฟ้องบริษัทประกันภัยเป็นคดีฟ้องกลุ่ม หรือ class action ได้ และหากมีการบอกเลิกสัญญาโดยที่คู่สัญญาไม่มีความผิด บริษัทประกันภัยก็ไม่ควรจะคืนเงินให้แก่ผู้เอาประกันภัย โดยหักเบี้ยประกันภัยสําหรับระยะเวลาที่กรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ได้ใช้บังคับไปแล้ว บริษัทประกันภัยต้องคืนเงินเต็มจำนวนโดยผู้เอาประกันภัยมีสิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยและค่าเสียโอกาสในการทำประกันภัยโควิดกับบริษัทประกันภัยอื่นๆ ที่ไม่เคยยกเลิกกรมธรรม์ของผู้เอาประกันภัย น.ส. ทิพานัน กล่าว