นายกฯ ยึดหลัก “ป่าอยู่ได้ คนอยู่ดี” ดันเพิ่มป่า-เพิ่มเศรษฐกิจ

Highlight, สังคม
2 เมษายน 2021

นายกฯ ยึดหลัก “ป่าอยู่ได้ คนอยู่ดี” ดันเพิ่มป่า-เพิ่มเศรษฐกิจ จัดสรรที่ทำกินแล้วเกือบ 7 แสนไร่ ป่าชุมชนกว่า 6 ล้านไร่

 

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงความก้าวหน้าในการดูแลประชาชนให้มีพื้นที่ทำกินและยกระดับความเป็นอยู่ว่า ภายใต้การบริหารราชการของ พล.อ.ประยุทธ์ จัทน์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้เดินหน้าการพัฒนาที่ดินเพื่อประชาชนมีที่อยู่อาศัยและที่ทำกินอย่างมั่นคง อีกทั้งมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ป่า โดยยึดหลัก “ป่าอยู่ได้ คนอยู่ดี” ซึ่งรัฐบางได้ริเริ่มนโยบายใหม่ที่ครอบคลุมหลายมิติ ดังเห็นได้จาก การแก้ไขกฎหมาย พระราชบัญญัติป่าชุมชน ช่วยไม่ให้ชาวบ้านที่เก็บของป่ามาขายต้องถูกจับเหมือนในอดีต และให้อำนาจชาวบ้านในชุมชนในการตัดสินใจดูแลและใช้ประโยชน์จากป่าไม้ของชุมชนตัวเอง ณ ปัจจุบัน มีการประกาศจัดตั้งป่าชุมชนไปแล้ว 11,327 ป่าชุมชน พื้นที่ 6.29 ล้านไร่ และมีแผนการจัดตั้งป่าชุมชนใหม่ในปี 2564 อีก 300 ป่าชุมชน

 

มากไปกว่านั้น รัฐบาลยังได้ ปลดล็อก พระราชบัญญัติป่าไม้ อนุญาตให้ประชาชนปลูกไม้หวงห้าม 158 ชนิดในพื้นที่ของตัวเอง โดยไม่ถือเป็นไม้หวงห้ามอีกต่อไป ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้เกิดการใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากขึ้น อีกทั้งรัฐบาลยังได้เปิดให้ลงทะเบียน “ปลูกไม้มีค่า” กับกรมป่าไม้ ถ้าปลูกในที่ดินของตัวเอง มีเอกสารสิทธิถูกต้อง ก็สามารถทำไม้ ตัด แปรรูป ส่งออก หรืออื่น ๆ ได้ แต่ถ้าขึ้นอยู่ในป่า ยังถือเป็น “ไม้หวงห้าม” ปัจจุบันนี้ประชาชนปลูกไม้มีค่าและลงทะเบียนกับกรมป่าไม้แล้ว 7 หมื่นกว่าราย เนื้อที่รวม ล้านกว่าไร่ โดยมีโครงการคู่ขนานไปด้วย คือ ประชาชนสามารถนำไม้มีค่า ที่กำหนดไว้ 58 ชนิด (เช่น สัก ประดู่ พะยูง เต็ง มะค่าโมง เป็นต้น) ไปเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันการกู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรได้อีกด้วย

 

นางสาวรัชดา กล่าวด้วยว่า นายกรัฐมนตรีต้องการให้ประชาชนมี่ที่อยู่อาศัยและที่ทำกินอย่างมั่นคง มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น กลไกภาครัฐจึงต้องขับเคลื่อนในทิศทางที่ส่งเสริมโอกาสแก่ประชาชน ลดความขัดแย้ง ไม่ขัดกฎหมาย แนวคิด “ป่าอยู่ได้ คนอยู่ดี” จึงเป็นพื้นฐานสำคัญในการทำงานร่วมกันระหว่างรัฐและประชาชน ทั้งนี้ แม้จะพบปัญหาเรื่องการใช้ที่ดินซ้ำซ้อนอยู่ในบางพื้นที่ ในภาพรวมของการดำเนินการจัดสรรที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยให้ชุมชนให้สามารถอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ /ป่าชายเลน /ที่สปก. /ที่ราชพัสดุ /ที่สาธารณะประโยชน์ นับตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน จัดสรรให้แล้ว 60,419 ราย 74,612 แปลง คิดเป็นพื้นที่ 665,000 ไร่ และไม่ใช่เพียงแค่นั้น รัฐบาลยังได้ดำเนินการอย่างบูรณาการเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงน้ำ ไฟฟ้า และถนน รวมถึงส่งเสริมและพัฒนาอาชีพที่เหมาะสม เช่น การปลูกต้นไม้ในพื้นที่เป็นอาชีพเสริม เพื่อชุมชนมีรายได้เพี่มจากโครงการคาร์บอนเครดิตอีกด้วย

บทความที่เกี่ยวข้อง