“วิษณุ” ปัดเสนอความเห็น รัฐบาลเป็นเจ้าภาพแก้รธน.

Highlight, การเมือง
23 มีนาคม 2021

“วิษณุ” ปัดเสนอความเห็น รัฐบาลเป็นเจ้าภาพแก้รธน. โยนวิปรัฐบาล ถกก่อน คาดลงมติ พ.ร.บ.ประชามติวาระ 3 ผ่านได้ แต่ต้องจับตามาตราสำคัญ เช่น ประชาชนออกเสียงเท่าไหร่ถึง ถือเป็นประชามติ

 

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวกรณีที่มีการเรียกร้องให้รัฐบาลเป็นเจ้าภาพ ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ส่วนตัวไม่ทราบ แต่ในส่วนของบุคคลอื่น จะมีการพูดคุยในเรื่องนี้หรือไม่นั้น ตนก็ไม่ทราบเช่นเดียวกัน

 

ส่วนกระแส ที่ประชาชนบางกลุ่ม อาจไม่เชื่อมั่นกระบวนการของสภาแล้ว จะทำให้รัฐบาลหรือพรรคการเมืองใดควรเป็นเจ้าภาพคนเป็นเจ้าภาพเองหรือไม่นั้น ขอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องไปคุยกันในเรื่องนี้ก่อน

 

ส่วนถ้ามีคนเสนอให้รัฐบาลเป็นเจ้าภาพในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐบาลจะพร้อมหรือไม่นั้น นายวิษณุ ยืนยันว่า ต้องให้มีการพูดคุยกันก่อน เพราะขณะนี้รัฐบาลยังไม่ทราบว่าจะแก้อะไรบ้าง และแต่ละพรรคก็มีความเห็นที่ไม่ตรงกัน ซึ่งตรงนี้หากทุกอย่างตรงกันแล้ว ใครจะเป็นเจ้าภาพก็คงไม่เป็นปัญหา

 

อย่างไรก็ตาม นายวิษณุ เคยเสนอไปแล้วว่า ควรจะต้องกำหนดมาตราที่ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่า ว่าจะต้องแก้ไข และมีความจำเป็นก่อน หรือเป็นมาตราที่ไม่ต้องทำประชามติ ตรงนี้ก็จะเป็นเรื่องง่าย

 

ส่วนมาตราที่ว่านั้น จะมีเรื่องใดบ้าง ตนเองยังไม่อยากตอบในขณะนี้

ทั้งนี้ เห็นว่าคนที่ควรจะเริ่มหยิบประเด็นนี้มาพูดคุย คือ วิปรัฐบาล ส่วนขั้นตอนจะเป็นอย่างไรต่อไปนั้น ก็ต้องให้เกิดการพูคคุยกันก่อน

 

นายวิษณุ ยังกล่าวถึงกรณีที่หลายฝ่ายกังวล ว่า พ.ร.บ.ประชามติ จะถูกคว่ำหรือไม่นั้น ตนเองไม่ทราบ เพราะเป็นเรื่องของรัฐสภา ส่วนในเรื่องของรายละเอียด ก็ขึ้นอยู่กับคณะกรรมาธิการที่พิจารณาร่างกฎหมาย

 

อย่างไรก็ตาม การที่เกิดปัญหามาก่อนหน้านี้ ก็เป็นเรื่อของกรรมาธิการในการพิจารณา ที่มีทั้งผู้ขอแปรญัตติและผู้ขอสงวนญัตติไว้

 

นอกจากนี้ ไม่ตอบว่าส่วนตัวเห็นด้วยหรือไม่กับแนวทางเสนอคำถาม การทำประชามติ จากทางสภาไปยังภาคประชาชน

 

ทั้งนี้ จะทำให้ ส.ว.ไม่เห็นด้วย ส่งผลให้การพิจารณาวาระ 3 ตกไปหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ขออย่าให้คิดไปถึงขั้นนั้นล่วงหน้า เพราะการทำงานนั้น จะขึ้นอยู่กับกฤษฎีกาและกรรมาธิการ พร้อมกันนี้ยังมองว่า กรณีของ มาตรา 9 นั้น ไม่เป็นปัญหามานัก แต่ปัญหาต่อจากนั้น คือ การขอแก้มาตรา 9 จะไปผูกกับมาตรา 10 , 11 , 12 , 13 และบทกำหนดโทษ

 

ทั้งนี้ มองว่าที่สุดแล้ว การพิจารณาในวาระ 3 ไม่ควรจะมีปัญหา แต่ก็ต้องติดตามเพราะยังคงมีอีกหลายมาตรา ที่อาจจะเป็นปัญหาได้ ในจำนวนทั้งหมด 17 มาตรา เช่น มาตราที่ว่า จะต้องมีประชาชน มาออกเสียงเท่าไหร่ถึงจะเป็นประชามติ เพราะต้องมองว่าจะเลือกให้เป็นเสียงกึ่งหนึ่ง หรือ หนึ่งในห้า และสองในสาม การเป็นประชามติจะต้องใช้เสียงข้างมาก หรือจะต้องมีเสียงเท่าใด ซึ่งมาตราเหล่านี้มีความสำคัญ และยังไม่ได้มีการพูดถึง

 

อย่างไรก็ดี ร่างกฎหมายประชามติเป็นร่างกฏหมายสำคัญ ที่เป็นกฎหมายปฏิรูป และเป็นร่างของรัฐบาล ซึ่งร่างจะผ่านหรือไม่ผ่าน ไม่ได้เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ

 

ทั้งนี้ ในประเพณีการปกครอง แม้ในอังกฤษเอง หรือ ในที่อื่นๆ ถ้ารัฐบาลเสนอวาระ 1 ไม่ผ่าน จะมีผู้กระทบ เช่น ต้องลาออกหรือยุบสภา เพราะนั้นแปลว่าสภาไม่ไว้วางใจ แต่การที่ร่างประชามติผ่านวาระที่ 1 ไปแล้วนั้น และมีการแก้ไข ถือเป็นเรื่องของกรรมาธิการ ไม่ใช่เรื่องของรัฐบาล ผลจึงแตกต่างกัน ไม่ใช่เรื่องของการไม่ผ่าน ที่ว่าร่างกฏหมายไม่ผ่าน

 

ส่วนที่พรรคเพื่อไทยออกมา ระบุว่า การที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญตกไปตกไปในวาระ 3 นั้น นายวิษณุ ถามสื่อว่าคิดว่าใช่หรือไม่ ทำให้สื่อตอบกลับมาว่า “เขาพูดมาว่าอย่างนั้น” นายวิษณุจึงตอบกลับว่าไม่เป็นไรไม่เป็นไรเขาก็พูดมาของเขาทุกวันอยู่แล้ว บางคนถึงกับบอกว่าให้ยุบสภาเลยแล้วกัน

บทความที่เกี่ยวข้อง