ประธาน กมธ.ร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ยืนยันสามารถส่งร่างกลับพิจารณาวาระ 2-3 ในเดือนกุมภาพันธ์ ไม่ปิดตายวิธีการออกเสียงด้วยการกาบัตรอย่างเดียว
นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ยืนยันว่าการพิจารณาของกรรมาธิการจะเสร็จตามกรอบเวลาเดิมที่กำหนดไว้คือสิ้นเดือนมกราคม แต่ด้วยมีจำนวนผู้แปรญัตติค่อนข้างมาก ดังนั้นหากจะต้องมีการเลื่อนออกไปบ้างก็จะพยายามให้มีผลกระทบน้อยที่สุด รวมถึงจะมีการติดตามการประชุมของคณะกรรมาธิการพิจารณาแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ไทม์ไลน์ของ2คณะอยู่ในระยะเวลาที่ใกล้เคียงกันให้มากที่สุด เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญมีความจำเป็นที่จะต้องมีกติกาของการทำประชามติเข้ามาเกี่ยวข้อง พร้อมยืนยันภายในเดือนกุมภาพันธ์จะเสร็จทันนำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาในวาระที่ 2 และ 3
ส่วนประเด็นที่มีผู้สงวนขอแปรญัตติส่วนใหญ่จะเป็นประเด็นของการออกเสียงประชามติล่วงหน้าและการออกเสียงประชามตินอกราชอาณาจักร ซึ่งทั้งสองประเด็นนี้ทางกรรมาธิการก็ได้ให้ความสนใจ โดยก่อนที่จะมีการพิจารณาลงรายละเอียดรายมาตราก็ได้มีการเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาให้ความเห็น ทั้ง กกต. ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดให้มีการออกเสียงประชามติ ซึ่งในกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งนั้นมีการกำหนดหลักเกณฑ์เรื่องของการจัดให้มีการออกเสียงล่วงหน้าไว้ แต่ในส่วนของกฎหมายประชามติไม่มีการกำหนดไว้ และในส่วนของการออกเสียงประชามตินอกราชอาณาจักรได้เชิญผู้แทนกรมการกงสุลมาให้ความเห็น เนื่องจากเป็นผู้ที่รับผิดชอบการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร เป็นผู้มีประสบการณ์ในเรื่องนี้ และยังถามความเห็นเกี่ยวกับข้อผิดพลาดบางอย่างเกิดขึ้นกับการเลือกตั้งทั้วไปครั้งที่ผ่านมา ที่มีการจัดส่งบัตรเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรจากบางประเทศกลับเข้ามาไม่ทัน
นอกจากนี้ ยังมีในส่วนของประเด็นวิธีการออกเสียงประชามติ เนื่องจากในร่างที่รัฐบาลส่งมานั้นยังคงใช้วิธีการการออกเสียงประชามติแบบกาบัตร แต่ก็มีแนวความคิดเกี่ยวกับการใช้ระบบอิเล็คทรอนิกส์เข้ามาทดแทน เพื่อลดการเดินทาง ซึ่งเรื่องนี้ก็ได้สอบถามความพร้อมกับ กกต.ซึ่งเป็นผู้ที่ต้องรับผิดชอบ ดังนั้นมีความเป็นไปได้ที่กรรมาธิการจะไม่เขียนจำกัดวิธีการออกเสียงประชามติไว้เพียงวิธีเดียว
“เรื่องการเขียนกฎหมายมันไม่ยาก แต่ว่าเราต้องมองถึงผู้ปฏิบัติเขาด้วย ว่าถ้าเราออกกริกาไปแล้ว ความพร้อมทั้งเรื่องงบประมาณ กำลังคน อุปกรณ์ และระบบโปรแกรมสามารถมีความรองรับได้มากน้อยแค่ไหน แต่อย่างไรก็ดีข้อมูลที่รับฟังมาจาก กกต.ขณะนี้ ระบบอิเล็กทรอนิกส์ยังมีความพร้อมค่อนข้างจำกัดอยู่ จึงเป็นไปได้สูงที่กรรมาธิการจะปรับปรุงร่างกฎหมายฉบับนี้เผื่อการอนาคตไว้ด้วย” ประธานกรรมาธิการฯ กล่าว