นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า ตามที่มีกลุ่มนักศึกษา-ประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดอุบลราชธานี รวมตัวชุมนุมกันเพื่อแสดงความไม่พอใจการบริหารประเทศของรัฐบาล โดยมีจุดยืนเดียวกันกลุ่มเยาวชนปลดแอกที่ชุมนุมกันที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กรุงเทพฯ เมื่อเย็นวันที่ 19 ก.ค.63 โดยมีข้อเรียกร้อง 3 ข้อเช่นกัน คือ 1.ให้รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ยุบสภาเพื่อเปิดทางให้มีการจัดการเลือกตั้งใหม่ 2.หยุดคุกคามประชาชน และ 3.ให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ที่ยังไม่ยุติ และการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ยังห้ามการรวมกลุ่ม หรือการชุมนุมต่างๆอยู่นั้น
ทั้งนี้ การชุมนุมดังกล่าวเป็นสิทธิที่สามารถทำได้ตามที่รัฐธรรมนูญ 2560 ม.44 วรรคแรกบัญญัติ แต่ทว่าในวรรคสอง มีข้อยกเว้นไว้ คือ เว้นแต่โดยอาศัยอํานาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ที่ตราขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี ของประชาชน หรือเพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น นั้นคือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 2548 ซึ่งรัฐบาลได้ประกาศและบังคับใช้เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิด-19 และยังไม่ถูกยกเลิก
และการที่กลุ่มนักศึกษา-ประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดอุบลราชธานี รวมตัวชุมนุมเมื่อเย็นวันอาทิตย์ที่ผ่านมา จึงเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนม.9(2) แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 2548 มีอัตราโทษตาม ม.18 จำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ การฝ่าฝืนประมวลกฎหมายอาญา ม.215 ฐานมั่วสุมกันเกินกว่าสิบคนหรือก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ถ้าเป็นแกนนำม็อบหรือเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการในการกระทำความผิด โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีปรับไม่เกิน 1 แสนบาท และเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจได้สั่งผู้ที่มั่วสุมให้เลิกชุมนุมแล้วยังฝ่าฝืนมีความผิดตาม ม.216 โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนั้นยังมีความผิดตาม ป.อาญา ม.209 ฐานเป็นอั้งยี่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี และปรับไม่เกิน 1.4 แสนบาท และความผิดฐานใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ขออนุญาตตาม ม.4 แห่งพ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง 2493 อีกด้วย
ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่และอุบลราชธานี ที่จะต้องเร่งดำเนินการออกหมายเรียกและติดตามจับกุมผู้ที่ต้องสงสัยโดยเฉพาะแกนนำม็อบทั้งหมดที่จับไมโครโฟนปราศรัยปลุกระดมมาดำเนินการสอบสวนและทำความเห็นทางคดี ตามข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยระเบียบการดำเนินคดีอาญา 2523 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 9 และประมวลการตำรวจเกี่ยวกับคดี ลักษณะ 8 บทที่ 2 ข้อ 278 เฉกเช่นเดียวกันกับม็อบเยาวชนปลดแอกที่ชุมนุมกันที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กรุงเทพฯตามครรลองของกฎหมาย เพราะจะใช้กฎหมู่มาอยู่เหนือกฎหมายมิได้ แต่หากตำรวจไม่ดำเนินการก็จะเข้าข่ายความผิดตาม ปอ.157 เสียเอง