ครบวงจร ‘พิธา’ เสนอทางออกน้ำท่วม ‘เมืองคอน’

Highlight, สังคม
8 ธันวาคม 2020

ครบวงจร ‘พิธา’ เสนอทางออกน้ำท่วม ‘เมืองคอน’ ระยะกลาง-ยาว ทวงถาม ‘รัฐบาล’ พร้อมเยียวยาฟื้นฟูหลังน้ำลดหรือยัง

วันที่ 8 ธันวาคม 2563 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เสนอแนวทางการดูแลและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมจังหวัดนครศรีธรรมราชทั้งในระยะกลางและระยะยาว เพื่อให้ปัญหานี้คลี่คลายไปได้โดยเร็วที่สุดและไม่เกิดขึ้นอีก โดยระบุว่า การไปในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชของพรรคก้าวไกลเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สิ่งที่พอทำได้ในพื้นที่คือการช่วยเหลือระยะสั้น เช่น การนำปัจจัยดำรงชีพบางส่วนไปมอบให้ในจุดที่มีการเข้าถึงลำบากหรือการช่วยเหลือจากหน่วยงานที่รับผิดชอบยังไปไม่ถึง แต่ต้องต้องเน้นย้ำว่าหน้าที่ในการบรรเทาสาธารณภัยเป็นของรัฐบาล และรัฐบาลจะต้องใช้อำนาจในทางบริหารอย่างถูกต้อง รวดเร็ว เพื่อให้ปัญหานี้คลี่คลายไปได้โดยไวที่สุด

 

หัวหน้าพรรคก้าวไกล ยังกล่าวด้วยว่า ในขณะที่ต้องเร่งบรรเทาปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนผู้ประสบภัย อีกด้านหนึ่งรัฐบาลก็ควรที่จะต้องหันกลับไปตั้งคำถามกับตนเองด้วยว่า ได้ทำการป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นจากน้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ดีเพียงพอแล้วหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการเตือนภัยเพราะถ้าหากระบบเตือนภัยดีพี่น้องประชาชนก็จะรู้ตัวก่อนน้ำมา ทำให้สามารถเตรียมตัวรับมือ ซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสในการรักษาทรัพย์สินของประชาชน และลดจำนวนเงินเพื่อการเยียวยาฟื้นฟูที่รัฐบาลจะต้องจ่ายไปพร้อมกันด้วย

 

นายพิธา กล่าวแสดงความกังวลว่า หากใช้เหตุการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคอีสานเมื่อปีที่แล้วมาเป็นตัวอ้างอิงก็จะพบว่า รัฐบาลจะเริ่มใช้มาตรการเยียวยาเมื่อสามารถควบคุมสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ส่วนใหญ่ได้แล้ว โดยจะเริ่มจากการให้ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดใช้เวลาประมาณ 1 เดือนในการจัดทำบัญชีผู้ประสบภัย ซึ่งเป็นงานความร่วมมือกับท้องถิ่นและผู้นำชุมชนในการจัดทำ ขั้นตอนต่อไปคือแจ้งให้ผู้ประสบภัยไปเปิดบัญชีธนาคารออมสินเพื่อรอรับเงินเยียวยาจากรัฐบาล

 

“แต่ก้าวไกลมองว่า เรื่องของเงินเยียวยายิ่งถึงมือพี่น้องประชาชนที่กำลังลำบากเร็วเท่าไหร่ยิ่งดี เพราะฉะนั้นจึงไม่ควรรอให้พื้นที่ส่วนใหญ่น้ำหายท่วมก่อน ทีมยุทธศาสตร์ด้านน้ำของรัฐบาลควรจะต้องสามารถประเมินได้ว่าพื้นที่ใดบ้างที่เป็นพื้นที่ปลอดภัยจากน้ำท่วมในครั้งนี้แล้ว เพื่อที่จะเร่งให้มีการทำบัญชีผู้ประสบภัยในบริเวณดังกล่าวและสามารถจ่ายเงินเยียวยาส่งตรงไปให้ถึงมือพี่น้องประชาชนได้โดยเร็วที่สุด โดยอาจทำบัญชีด้วยการประชาคมผ่านท้องถิ่นและผู้นำชุมชนตามเดิม หรือทำผ่านระบบออนไลน์ควบคู่กันไปเพื่อความสะดวกรวดเร็วก็ได้เช่นกัน และเมื่อสามารถระบุพื้นที่ปลอดภัยได้แล้วก็จะสามารถดำเนินขั้นตอนของการฟื้นฟูไปพร้อมๆกับขั้นตอนของการเยียวยาได้ ซึ่งแน่นอนว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่นั้นๆควรต้องเป็นเจ้าภาพในการควบคุมงานฟื้นฟู เพียงแต่รัฐบาลจะต้องจัดงบประมาณและสรรพกำลังสำหรับการสนับสนุนงานฟื้นฟูอย่างเต็มความสามารถ รวมทั้งอาจมีการออกระเบียบบางอย่างเพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถนำเงินสะสมและเงินทุนสำรองสะสมมาใช้จ่ายเพื่อการนี้ได้อย่างสะดวก ตรงกับความต้องการของพี่น้องประชาชนมากขึ้น” หัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้ข้อเสนอแนะ

 

นายพิธา ยังได้ระบุอีกว่า หลังจากน้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้สิ้นสุดลงแล้ว ต่อไปควรต้องเตรียมความพร้อมเพื่อไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำอีก รัฐบาลจะต้องรู้จักนำบทเรียนที่ได้รับไปปรับใช้ สามารถทำได้โดยการออกแบบงบประมาณให้พร้อมรับมือกับสถานการณ์ เช่น การพัฒนาระบบเตือนภัย การให้ความสำคัญในการป้องกันพื้นที่สำคัญและพื้นที่เปราะบาง อีกเรื่องที่ต้องนำไปเป็นบทเรียนและเร่งแก้ไขผลกระทบโดยเร็วที่สุดคือกรณีบ่อขยะในจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศ และอาจมีขยะอันตรายผสมอยู่ในนั้น แต่พื้นที่โดยรอบบ่อขยะกลับไม่มีการวางแนวกั้นหรือกระสอบทรายเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำหลากเข้ามา ทำให้ตอนนี้มีประชาชนในพื้นที่กว่า 6 ตำบลที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อจากสารพิษ และอีกสิ่งที่รัฐบาลต้องถอดทบทวน คือ โครงการขนาดใหญ่ที่ใช้งบประมาณมาก เช่น ‘โครงการคลองผันน้ำเมืองนครศรีธรรมราช’ ที่มีมูลค่าโครงการสูงเกือบ 10,000 ล้านบาท ซึ่งดำเนินการกลับล่าช้า สามารถเบิกจ่ายได้เพียงร้อยละ 0.02 จากงบประมาณทั้งหมดที่ได้รับจัดสรรในปีงบประมาณ 2563 และตัวโครงการยังมีปัญหาเรื่องของการต่อต้านจากประชาชนในพื้นที่ที่จะขุดคลอง รวมไปถึงปัญหาในเชิงวิชาการ ที่ไม่อาจยืนยันได้ด้วยหลักคิดหรือทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ว่า การสร้างคลองผันน้ำสายนี้จะสามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมให้กับเมืองนครศรีธรรมราชได้จริง

 

“นอกจากนี้ต้องอย่าลืมว่าน้ำท่วมคราวนี้เกิดขึ้นใน 11 จังหวัดภาคใต้ มีประชาชนกว่า 5 แสนครัวเรือนได้รับผลกระทบ พื้นที่การเกษตรเสียหายร่วม 4 แสนไร่ ปศุสัตว์ได้รับความเสียหายเกือบ 8 ล้านตัว ซึ่งไม่ได้เดือดร้อนแค่ในจังหวัดนครศรีธรรมราชเพียงจังหวัดเดียวเท่านั้น แต่สิ่งที่รัฐบาลกำลังทำกลับเป็นเรื่องกรเปิดรับเงินบริจาคเพื่อช่วยเหลือน้ำท่วม จึงอยากตั้งคำถามว่ารัฐบาลพร้อมแค่ไหนที่จะเข้าสู่ช่วงของการเยียวยาและฟื้นฟูผลกระทบจากอุทกภัยในครั้งนี้” นายพิธา กล่าวทิ้งท้าย

บทความที่เกี่ยวข้อง