กรมอนามัย แนะลูกดูดนมแม่เป็นประจำ สร้างภูมิคุ้มกัน ช่วยคลายหนาว

Highlight, สังคม
7 ธันวาคม 2020

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะให้ลูกกินนมแม่เพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน ช่วยสร้างความอบอุ่น คลายความหนาว ลดการเจ็บป่วย รวมทั้งสนับสนุนให้แม่กินอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ ดื่มน้ำให้เพียงพอ กินผักและผลไม้ให้วิตามินซี เพื่อสร้างน้ำนมที่เพียงพอสำหรับลูก

 

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ช่วงอากาศเปลี่ยนและหนาวเย็นลง เด็กทารกแรกเกิดถึง 6 เดือน ที่ยังไม่มีภูมิคุ้มกันของตนเองที่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องได้รับภูมิคุ้มกันจากนมแม่เป็นประจำ โดยแม่ควรให้ลูกดูดนมแม่จากเต้าได้ตามที่เด็กต้องการ และไม่ต้องให้น้ำหรืออาหารอื่นร่วม เนื่องจากนมแม่มีน้ำและสารอาหารที่เพียงพอกับการเจริญเติบโต และยังมีภูมิคุ้มกันโรคที่ช่วยปกป้องเด็กจากการ ติดเชื้อต่าง ๆ โดยข้อแนะนำองค์การอนามัยโลก กล่าวคือ เด็กทุกคนควรได้กินนมแม่เพียงอย่างเดียวจนถึงอายุ 6 เดือน หลังจากนั้นยังสามารถให้กินนมแม่ควบคู่กับอาหารตามวัยจนถึงอายุ 2 ปีหรือนานกว่านั้น การให้ลูกดูดนมจากเต้าเป็นสิ่งที่ดีที่สุด เนื่องจากเป็นการกระตุ้นฮอร์โมนออกซิโทซิน (Oxytocin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนแห่งความผูกพัน ร่วมกับสัมผัสจากอ้อมกอดของแม่จะช่วยสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างแม่ลูก ช่วยให้ลูกมีการพัฒนาด้านอารมณ์ที่คงที่มากขึ้น และทำให้ลูกคลายความหนาวได้ในระหว่างที่อยู่ในอ้อมอกของแม่

 

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า แม่ทุกคนควรเลี้ยงลูกด้วยนมตนเองให้นานที่สุด เพราะนมแม่เป็นสารอาหารที่สำคัญและสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีที่สุดสำหรับลูก ไม่เพียงแต่ปกป้องสุขภาพทารกแต่ยังเป็นการให้ภูมิคุ้มกันทางจิตใจแก่ลูกด้วย นมแม่ประกอบด้วยสารอาหารมากกว่า 200 ชนิด ที่จำเป็นสำหรับทารก โดยนมแม่ในระยะที่ 1 – 3 สัปดาห์แรก หลังคลอดถือเป็นวัคซีนหยดแรกของลูก เป็นยอดน้ำนมที่เรียกว่าโคลอสตรัมหรือหัวน้ำนมที่อุดมไปด้วยสารคาร์โบไฮเดรต โปรตีน วิตามิน และแร่ธาตุครบถ้วนช่วยสร้างภูมิต้านทานโรค ส่งผลให้ลูกปลอดภัยจากไข้หวัดปอดอักเสบหรือท้องร่วง ดังนั้น การกินนมแม่เป็นประจำจะช่วยให้ทารกสามารถเติบโตและมีพัฒนาการที่ดีสมวัยได้

 

“สำหรับแม่นั้น ควรกินอาหารที่มีประโยชน์ มีสารอาหารครบทุกประเภท ทั้งโปรตีน ไขมัน คาร์โบไฮเดรต วิตามิน และเกลือแร่ตามที่ร่างกายต้องการ เพื่อเสริมสร้างพลังงาน โดยเสริมวิตามินและแร่ธาตุที่มีส่วนสำคัญในการสร้างน้ำนม ด้วยการกินผักและผลไม้ให้เพียงพอ พร้อมกับดื่มน้ำเปล่าในปริมาณมาก เนื่องจากปริมาณน้ำที่ได้รับมีผลต่อการสร้างน้ำนมให้เพียงพอ” รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด

ศูนย์สื่อสารสาธารณะ 7 ธันวาคม 2563

บทความที่เกี่ยวข้อง