“วิษณุ” บอก รบ.จบเรื่องบ้านหลวงแล้ว แต่เป็นสิทธิถ้าใครจะร้อง แจงยิบรธน.เปิดช่องให้ออกระเบียบให้อดีตผบ.ทบ.ที่ทำคุณงามความดีให้กับกองทัพบ้านรับรองได้
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯให้สัมภาษณ์กรณีนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ ยื่นกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบสภาผู้แทนราษฎรให้ตรวจสอบกรณีศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรมว.กลาโหมไม่มีความผิดกรณีอยู่บ้านพักหลวง โดยยกระเบียบกองทัพบกมาเป็นเหตุผลทั้งที่ไม่มีกฎหมายรองรับว่า ตนมองว่าเรื่องนี้เมื่อมีคำวินิจฉัยออกมาถือว่าจบแล้ว แต่ใครจะร้องก็เป็นสิทธิที่สามารถทำได้ ส่วนที่เขาร้องไปยังกรรมาธิการแล้วจะรับเรื่องหรือไม่นั้นต้องไปถามที่กรรมาธิการ ส่วนจะไปร้องคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้หรือไม่นั้นตนไม่มีความเห็น เมื่อถามว่าระเบียบกองทัพบกไม่มีกฎหมายรองรับจริงหรือไม่ นายวิษณุ ตอบว่า มีกฎหมายรองรับแต่ให้ไปถามรายละเอียดที่กองทัพบก อีกทั้งระเบียบดังกล่าวไม่จำเป็นต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพราะเป็นระเบียบภายในที่ออกมาตั้งแต่ปี 2548 ที่มีอำนาจในการจัดสวัสดิการภายใน เมื่อถามย้ำว่าประเด็นนี้ในมุมของรัฐบาลถือว่าสะเด็ดน้ำใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า เมื่อคดีถึงที่สุดแล้วมีผลผูกมัดทุกองค์กรทั้งปวงก็ต้องตอบว่าจบใครที่เห็นว่าไม่จบจะไปร้องต่อก็ไม่ได้ว่าอะไร ส่วนเขาจะรับหรือไม่หรือรับแล้วทำอย่างไรต่อก็แล้วแต่ ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญจะรายงานสภาฯ จะนำไปสู่การอภิปรายไม่ไว้วางใจ หรือจะส่งให้ ป.ป.ช. หรือจะส่งศาล หรือจะทำอย่างไรก็แล้วแต่
“ก็เราเป็นผู้ต้องหา เป็นจำเลย จะบอกว่ายกฟ้องแล้วไม่จบ ก็คงเป็นจำเลยที่แปลก แต่ถ้าโจทก์ร้องว่าผิดศาลบอกยกฟ้องไม่ผิดโจทก์บอกไม่จบก็อุทธรณ์ ฎีกา ได้ แต่บังเอิญว่าคดีนี้ไม่มีอุทธรณ์ ฎีกา เมื่อไม่จบจะไปอย่างไรก็ช่างคุณ”
เมื่อถามว่ามีการตั้งข้อสังเกตว่าการยกระเบียบกองทัพบกมาบอกว่าพล.อ.ประยุทธ์ ไม่มีความผิด เป็นการทำให้ระเบียบใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญ รองนายกฯ กล่าวว่า ศาลไม่เคยบอกว่าอะไรสูงกว่า คำตอบมีอยู่ชัดทั้งหมดหากไปอ่านคำวินิจฉัยฉบับเต็มของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะเริ่มต้นเขาร้องว่าผิดรัฐธรรมนูญตามมาตรา 184(3) ที่ระบุว่าไม่ให้รับเงินหรือ
สิทธิ์ใดๆจากหน่วยงานของรัฐเป็นกรณีพิเศษ เว้นแต่จะเป็นการรับซึ่งหน่อยงานนั้นได้ปฏิบัติต่อบุคคลทั่วไปในธุรกิจการงานปกติ ดังนั้นถ้าเริ่มต้นด้วยการรับอะไรที่ไม่พิเศษก็รับได้ ที่รับได้นั้นรับตามระเบียบแต่ระเบียบนั้นมาตรา 184(3) อนุญาตให้ออกดังนั้นอะไรที่เป็นกรณีพิเศษต้องดูเป็นเรื่องๆไป เมื่อมีการออกระเบียบให้สามารถทำได้มันก็ไม่ใช่กรณีพิเศษ เฉกเช่นทำไม่นายกฯไปอยู่บ้านพิษณุโลกได้ ก็ถือเป็นการรับสิทธิประโยชน์จากส่วนราชการไม่ใช่หรือ คำตอบก็คือใช่ไม่กรณีพิเศษ ใครที่เป็นนายกฯก็อยู่ได้ทุกคน ใครเป็นรัฐมนตรีก็ได้รับเงินเดือนทุกคน การเข้าอยู่บ้านพักหลวงของพล.อ.ประยุทธ์ ก็เป็นเช่นเดียวกัน
“แต่หากอ้างว่าเป็นนายกฯอยู่บ้านพิษณุโลกได้แต่อยู่บ้านพักทหารไม่ได้เพราะนายกฯคนอื่นไม่มีสิทธิอยู่บ้านพักทหาร แต่ระเบียบกองทัพบกให้สิทธิ อดีตผบ.ทบ. ที่ทำคุณประโยชน์อยู่ ก็เหมือนกับการให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรี ซึ่งเป็นอดีตผบ.ทบ.ก็อยู่บ้านพักสี่เสาเทเวศร์ได้ และอดีต ผบ.ทบ.หลายคนอยู่บ้านเกษะโกมลได้ และคำว่าบ้านหลวงของทหารนั้นต่างจากข้าราชการทั่วไปหลายคนอาจไม่เข้าใจเพราะต้องแบ่งเป็นสองประเภท และไม่ได้เพิ่งมีความหมายตอนพล.อ.ประยุทธ์ ถูกฟ้องเพราะมีมาตั้งแต่ปี 2548 โดยแบ่งเป็นบ้านพัก คนที่ดูแลคือกรมสวัสดิการทหารบกมีสิทธิให้ข้าราชการเข้าอยู่ได้ออกค่าน้ำค่าไฟเองเมื่อพ้นจากตำแหน่งต้องยายออก และบ้านรับรองหรือบ้านพักรับรองที่ไม่มีการระบุระยะเวลาที่ต้องออก คล้ายกับบ้านพักประจำตำแหน่งไม่มีอยู่ในอำนาจกรมสวัสดิการกองทัพบก แต่อยู่ในอำนาจของผบ.ทบ. คนเดียวเท่านั้น และให้ได้เฉพาะผบ.ทบ.หรืออดีตผบ.ทบ. และต้องทำคุณงามความดีให้กับกองทัพบก แต่ถหากเป็นผบ.ทบ.และอดีตผบ.ทบ. ที่ไม่ทำคุณงามความดีให้กองทัพบกเขาก็ไม่ให้อยู่ และเมื่อผบ.ทบ.อนุญาตแล้วก็เป็นบ้านรับรองจะอยู่นานเท่าไหร่ก็ได้ และสามารถจัดสิทธิประโยชน์ค่าน้ำค่าไฟ ยามและสิ่งอื่นให้” นายวิษณุ กล่าว