ภาคีนักกฎหมายฯ ยื่นหนังสือ จี้”สิระ”พ้นตำแหน่ง ปธ.กมธ.กม.

Highlight, การเมือง
25 พฤศจิกายน 2020

ภาคีนักกฎหมายฯ ยื่นหนังสือ จี้”สิระ”พ้นตำแหน่ง ปธ.กมธ.กม. ด้าน สิระ เอาบ้าง วอน ปธ.สภา ตรวจสอบกลุ่มภาคีฯ มีเจตนาแอบแฝง โยงมีกลุ่มการเมืองอยู่เบื้องหลัง

เมื่อเวลา 10.20 น.กลุ่มภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ยื่นหนังสือถึงนายชวน หลีกภัย โดยมี นพ.สุกิจ อัตโถปกรณ์ รับหนังสือแทน โดยเรียกร้องให้ นายสิระ เจนจาคะ ส.ส. กทม.พรรคพลังประชารัฐ ลาออกจากการเป็นประธานกรรมาธิการ การกฎหมาย การยุติธรรม และการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยทันที หากนายสิระฯ ไม่ลาออก สภาผู้แทนราษฎรควรดำเนินการเพื่อให้พ้นจากตำแหน่ง ทั้งนี้ เพื่ออำนวยให้สภาผู้แทนราษฎรดำรงอยู่ได้ด้วยความสง่างามเกียรติภูมิของสภาผู้แทนราษฎรจะทรงเกียรติและสง่างามก็ด้วยแต่การดำรงไว้ซึ่งการรับใช้ประชาชน จากกรณีที่นายสิระ ได้ขึ้นปราศรัยถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญและได้กล่าวพาดพิงถึงบุคคลอื่นด้วยคำพูดที่เหยียดศักดิ์ศรีและลดทอนคุณค่าของความเป็นมนุษย์ ด้วยเหตุแห่งเชื้อชาติและสถานะตามกฎหมายบางประการของบุคคล
โดยนายสิระฯ ได้ปราศรัยช่วงหนึ่งว่า “นายจอน แม่เป็นคนอังกฤษ เป็นคนต่างชาติใช่มั้ย เป็นลูกครึ่งใช่มั้ย ปิยบุตร มีเมียเป็นฝรั่งเศส มันเป็นเขยฝรั่งเศสใช่มั้ย สองประเทศนี้ล้มล้างสถาบัน…” พฤติการณ์ดังกล่าวไม่อาจถือว่าเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดความเห็น หรือติชมเพื่อประโยชน์สาธารณะได้ เนื่องจากเป็นการปราศัยที่มุ่งวิพากษ์ตัวบุคคลบนพื้นฐานของความแตกต่างทางชนชาติ เผ่าพันธุ์ หรือศาสนา อันเป็นการยั่วยุให้เกิดการเลือกปฏิบัติ ความเกลียดชัง หรือการใช้ความรุนแรง ซี่งขัดต่อกติกาสากลระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 20 (2) ที่ประเทศไทยเป็นภาคี

จากนั้นนายสนธิญา สวัสดี ที่ปรึกษาประธานคณะกรรมาธิการกฎหมายการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ได้เป็นตัวแทนนายสิระ ยื่นหนังสือถึงประธานสภาเช่นกัน เพื่อขอให้ตรวจสอบภาคีนักกฏหมายสิทธิมนุษยชนว่าเกี่ยวข้องเชื่อมโยงและมีเบื้องหลังที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มการเมืองที่เคลื่อนไหวนอกสภาที่มีเจตนาสร้างความขัดแย้งแตกแยกในบ้านเมืองหรือไม่

นายสิระ ยังระบุด้วยว่า ภาคีเครือข่ายนักกฏหมายสิทธิมนุษยชน จึงน่าจะเป็นกลุ่มบุคคลอาจละเมิดสิทธิมนุษยชนเสียเอง เหตุจากการเคลื่อนไหวในเรื่องนี้  ซึ่งถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ เป็นนักสิทธิมนุษยชนที่เลือกข้าง ไม่ได้ดำเนินกิจกรรมที่เอาประชาชนส่วนใหญ่เป็นที่ตั้งแต่อย่างใด น่าจะมีนัยยะทางการเมืองแอบแฝง และเชื่อมโยงกับความต้องการของกลุ่มการเมืองที่เคลื่อนไหวนอกสภาที่มีเจตนาสร้างความแตกแยกในบ้านเมืองในขณะนี้”นายสิระ กล่าว

“ขอให้ท่านตรวจสอบว่า กรณีภาคีนักกฏหมายสิทธิมนุษยชน ที่กล่าวหาว่าตนว่า ละเมิดสิทธิมนุษยชน สร้างความแตกแยก และการใช้ความรุนแรง เพื่อให้ข้าฯลาออกนั้น เป็นกรณีเพื่อหวังผลทางการเมืองอีกด้านหนึ่งของกลุ่มดังกล่าวหรือไม่ และ ให้พิจารณาตรวจสอบว่ามีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงหรือมีเบื้องหลังกับกลุ่มการเมืองที่กำลังเคลื่อนไหวนอกสภาที่มีเจตนาสร้างความขัดแย้งแตกแยกในบ้านเมืองในขณะนี้หรือไม่”

 

บทความที่เกี่ยวข้อง