กรรมาธิการพิจารณาร่างแก้รัฐธรรมนูญ ปี2560 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมของพรรคก้าวไกล นายรังสิมันต์ โรม เปิดเผยว่าในที่ประชุมพรรคฝ่ายค้านเสนอ นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว เป็นประธาน ส่วนพรรคร่วมรัฐบาลเสนอ นายวิรัช รัตนเศรษฐ โดยยอมรับว่าเสียงฝ่ายค้านมีเพียง 13 เสียงน้อยกว่าเสียงของรัฐบาล
พร้อมกันนี้ ย้ำว่าพรรคฝ่ายค้านจะพลักดันเนื้อหาสาระร่างแก้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน รวมถึงร่างของพรรคร่วมฝ่ายค้าน โดยยืนยันว่าเนื้อหาสาระของภาคประชาชนมีความสำคัญที่จะพลักดันประเทศสู่ความเป็นประชาธิปไตย ขณะเดียวกันก็ยอมรับว่ามีข้อจำกัดของขอบเขตในการพลักดัน โดยอ้างอิงว่าร่างของรัฐบาลเขียนไว้แคบมาก เช่น เรื่องของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ซึ่งแต่ละร่างมีเนื้อหาต่างกัน โดยร่างของภาคประชาชนใช้เขตประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง แต่ร่างของรัฐบาลใช้เขตจังหวัด
ส่วนเรื่องของการแก้ไขประเด็นอำนาจหน้าที่ของส.ว. ที่อาจมีวุฒิสมาชิกบางส่วนไม่เห็นด้วย นายรังสิมันต์ กล่าวว่าต้องไปคุยในเนื้อหาสาระและในการอภิปรายยังมีการหักล้างด้วยเหตุผลน้อย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการดิสเครดิต หวังไม่ให้รับร่างของประชาชน ขณะเดียวกันยังไม่แน่ใจว่าจะเอาประเด็ยเรื่อง ส.ว.มาคุยในคณะกรรมการชุดนี้ได้หรือไม่ แต่ในการดำเนินการต้องไม่ขัดต่อหลักการในมติวาระที่ 1 ด้วย
นอกจากนี้ นายรังสิมันต์ กล่าวถึง สถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองและข้อสังเกตเรื่องการรัฐประหารจะส่งผลทำให้การร่างรัฐธรรมนูญล้มเหลวหรือไม่ ว่าต้องขึ้นอยู่กับการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ว่าจะออกมาเป็นอย่างไร เป็นประชาธิปไตยหรือไม่ โดยสุดท้ายคนที่จะตัดสินว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะผ่านหรือไม่คือประชาชน พร้อมยกตัวอย่างว่าหากสุดท้ายโครงสร้างส.ส.ร. ประกอบไปด้วยสัดส่วนที่มาจากการเลือกตั้งและแต่งตั้ง ก็ยากที่จะพูดว่าประชาชนจะเห็นด้วยหรือเข้ามาร่วมในกระบวนการ พร้อมกันนี้ย้ำว่า มีโอกาสที่พรรคฝ่ายค้านหรือพรรคการเมืองที่มีสัดส่วนร้อยละ 20 ที่จะให้คุณหรือให้โทษบางอย่างต่อกระบวนการแก้ไข ซึ่งทำให้ตอนนี้ยังสรุปไม่ได้ว่ารัฐธรรมนูญจะออกมาแบบไหน โดยเฉพาะปัจจัยที่จะทำให้รัฐธรรมนูญผ่ายหรือไม่มีหลายอย่าง แต่ตัวชี้วัดสำคัญคือประชาชน
การแก้รัฐธรรมนูญไม่ใช่ยาวิเศษที่จะแก้ปัญหาการเมืองได้ทั้งหมด แต่เป็นปัญหาหนึ่งที่ต้องแก้ไข และต้องใช้ระยะเวลา ขณะเดียวกันก็เห็นว่ามีปัญหาระยะสั้นที่ต้องเร่งดำเนินการคือมาตรา 272 ที่ให้อำนาจ ส.ว.ร่วมโหวตนายกรัฐมนตรีที่ถูกตีตกไป และหากเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองที่ต้องมีนายกคนใหม่ และ ส.ว.จะร่วมโหวตอยู่จะทำให้เกิดปัญหาใหม่หรือไม่ เชื่อว่าถ้า ส.ว.ร่วมโหวตอีกครั้งประเทศจะลุกเป็นไฟ
ส่วนปัญหาข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมเรื่องการปฏิรูปสถาบัน ต้องมาพูดคุยกันด้วยเหตุผล โดยไม่ใช้การดำเนินคดีหรือความรุนแรง หรือปัญหาการคุกคามประชาชน ทุกคนต้องมาพูดกันด้วยเหตุผล และไม่มีการปลุกระดมกัน โดยได้อ้างอิงถึงเอกสารของ สมช.ว่ามีการแจ้งขอความร่วมมือไปยังผู้ว่าราชการแต่ละจังหวัด อย่างไม่เป็นทางการให้มีการจัดตั้งมวลชนมาปกป้องสถาบัน โดยตั้งคำถามว่าการทำเช่นนี้จะทำให้บ้านเมืองดีขึ้นหรือไม่ ซึ่งส่วนตัวเห็นว่าหากทำเช่นนี้จะเพิ่มความขัดแย้งทางการเมือง