“อภิสิทธิ์” จี้ “บิ๊กตู่” ส่งสัญญาณแก้ปัญหาขัดแย้งให้ชัดเจน มอง 17-18 พ.ย.นี้ ด่านแรก หากหวังสถานการณ์บ้านเมืองดีขึ้น
อดีตนายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กล่าวถึงการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ที่มาโครงสร้างอดีตนายกรัฐมนตรีที่จะเข้าไปแก้ปัญหาในระยะยาวว่า เท่าที่ตนทราบประธานรัฐสภาได้สอบถามและขอความร่วมมือกับอดีตนายกรัฐมนตรีหลายคนในเบื้องต้น แต่ยังไม่มีการยืนยันในการตั้ง ซึ่งทราบจากข่าวว่าจะใช้รูปแบบตามที่สถาบันพระปกเกล้าเสนอ โดยเห็นว่าเป็นไปได้ยากที่จะเชิญกรรมการจากทุกฝ่ายเข้าร่วมได้ โดยเฉพาะผู้ชุมนุม ซึ่งสิ่งสำคัญคือการแก้ปัญหามากกว่าการตั้งคณะกรรมการ หากกรรมการจะมีส่วนในการแก้ไขปัญหาในสถานการณ์ จำเป็นต้องพิจารณาข้อเรียกร้องให้ครบถ้วน และต้องให้ความมั่นใจว่าหากมีการตั้งกลไกนี้มาแล้วจะสามารถส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงหรือข้อสรุปในทางปฏิบัติ ย้ำว่าเป็นภาระหนักของประธานรัฐสภาในการดำเนินการ แต่เห็นว่าปัญหาที่คนคาดหวังให้คลี่คลายสถานการณ์ทางการเมือง กลไกอาจไม่ใช่รูปแบบคณะกรรมการคนนอก โดยอาจเป็นการเสนอทางออกในอนาคต ชี้ว่าการคลายสถานการณ์เป็นหน้าที่ผู้มีอำนาจเริ่มด่านแรกจากวันที่ 17-18 พฤศจิกายนนี้ ในการแก้รัฐธรรมนูญว่าจะมีส่วนช่วยลดความตึงเครียดได้ยังไง
ส่วนข้อเสนอให้นายกรัฐมนตรีลาออก เป็นอำนาจการตัดสินใจของนายกรัฐมนตรี และยังไม่มีอะไรบ่งชี้ว่าจะเป็นเช่นนั้น หรือการยุบสภายังไม่ได้เป็นทางออกของปัญหา เพราะจะเป็นกติกาเดิมและวนลูบสถานการณ์ โดยยังเห็นว่าข้อเรียกร้องยังสวนทางกับแนวทางการแก้ไขให้ดีขึ้น
นายอภิสิทธิ์ ยังย้ำว่าต้องการเห็นนายกรัฐมนตรีและแกนนำรัฐบาล ในการส่งสัญญาณชัดเจน หลังจากมีข้อเรียกร้องที่ชัดเจนเรื่องกติกาจากคนในสังคม ที่ต้องการให้เกิดความเป็นธรรมและเป็นประชาธิปไตยแบบสากล ไม่ได้กระทบรูปแบบของรัฐ ซึ่งยังมีความสับสนในการแก้รัฐธรรมนูญจากสัญญาณที่รัฐบาลส่งมาจากกรณีที่มีการขอมติรัฐสภายื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ ขณะเดียวกันในการลงมติรับหลักการในวันที่ 17 และ 18 พฤศจิกายนนี้ ก็ไม่มีอะไรยืนยันว่าจะผ่านทุกร่างตามที่หลายฝ่ายคาดหวัง
ขณะเดียวกันข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุมไปยังไม่มีการลดช่องว่างของแต่ละฝ่าย เช่น ข้อเรียกร้องการปฏิบัติต่อประชาชนที่ยังมีปัญหาเรื่องของคดีความต่อแกนนำผู้ชุมนุม ที่นับวันมีแต่ สะสม สับสน ซับซ้อนมากขึ้น ส่วนขอเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ยังไม่มีสัญญาณใดว่ามีความพยายามที่จะทำเรื่องนี้ออกมาจากความขัดแย้งอย่างไร ปล่อยไปตามที่เป็นอยู่จนมีอารมณ์รุนแรงมากขึ้นทั้งสองฝ่ายซึ่งไม่เป็นผลดี และไม่เป็นผลดีต่อสถาบันพระมากษัตริย์ และย้ำว่าหากทุกฝ่ายต้องการกติกาใหม่จะต้องร่วมกันผลักดันให้เกิดขึ้นโดยเร็ว ส่งนเรื่องอื่นที่เป็นข้อขัดแย้งให้เน้นที่สาระ เพราะแม้นายกรัฐมนตรีไม่ลาออก การดำเนินการเช่นนี้จะส่งผลให้การเมืองผ่อนคลาย โดยเฉพาะการแก้รัฐธรรมนูญหากนายกรัฐมนตรีช่วยออกแรง จะสามารถทำให้ผ่านได้
“หากสถานการณ์ไปไกล ยังไม่คลี่คลายรวมทั้งนายกยังไม่ลาออก จนมีม็อบชนม็อบ จะทำให้มีความเสี่ยงเกิดความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ และหากยิ่งช้า การแก้ปัญหาก็ยิ่งจะมากขึ้นเนื่องจากจะมีปมความขัดแย้งใหม่”