“จุรินทร์” แจง คณะกรรมการสมานฉันท์ ต้องเป็นฉันทามติ ชี้ ไม่ใช่ยกมือแข่งกัน แล้วเอาเสียงข้างมากไปบังคับเสียงข้างน้อย แนะ การหาทางออกบางเรื่องใช้วิธีโหวตไม่ได้ ปัด ออกความเห็น วงสมานฉันท์ จะล้มหรือไม่ หากฝ่ายค้านไม่ร่วม
ที่โรงแรมสแปลช บีช รีสอร์ต ไม้ขาว ภูเก็ต นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี ถึงการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ ซึ่งขณะนี้มีการทาบทามอดีตนายกรัฐมนตรีมาร่วม ว่า นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาจะเป็นผู้พิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไร ขณะนี้สถาบันพระปกเกล้าได้เสนอแนวทางมาแล้ว รายละเอียดลึกๆ จะเป็นอย่างไรต้องรอดูว่าข้อเสนอทั้ง 2 รูปแบบรายละเอียดมีอย่างไรบ้าง และสุดท้ายประธานรัฐสภาหรือคณะบุคคลที่จะเชิญมาร่วมพิจารณาจะกำหนดรูปแบบอย่างไร ส่วนหลักคิดที่ตนเคยเสนอตั้งคณะกรรมการที่มาจาก 7ฝ่าย ไม่ได้แปลว่าฝ่ายใดจะมีมากหรือน้อยกว่า เพราะเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องมาแสวงหาความเห็นให้เป็นฉันทามติที่ตรงกัน ไม่ใช่ยกมือแข่งกัน แล้วเอาเสียงข้างมากไปบังคับเสียงข้างน้อย เพราะการหาทางออกบางเรื่องใช้วิธีโหวตไม่ได้ ต้องพูดคุยเจรจา ทำความเข้าใจร่วมกัน อะไรที่เห็นตรงกันทั้งหมดก็จะมีคำตอบ ว่าควรให้ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องรับไปปฏิบัติ อะไรที่ขัดแย้งกันอยู่ก็ต้องคุยกันต่อ แต่ทั้งนี้ เมื่อประธานรัฐสภา ได้หารือกับทุกฝ่ายแล้วเห็นว่าอะไรเหมาะสมที่สุด ตนและพรรคประชาธิปัตย์พร้อมให้การสนับสนุน เพราะอยากเห็นประเทศมีทางออกในสถานการณ์ปัจจุบันที่ทุกคนมีความเป็นห่วง
นายจุรินทร์ กล่าวว่า ส่วนเรื่องรายละเอียดการแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจจะเป็นหัวข้อหนึ่งที่จะหยิบยกมาคุยกันได้ หรือกรณีที่มีผู้เสนอให้ทำประชามติก็อาจเป็นหัวข้อที่จะหยิบยกมาพูดคุยกันได้ แต่ไม่ได้แปลว่าตนสนับสนุน รวมทั้งอีกหลายเรื่องที่มีผู้เสนอ ควรมีข้อสรุปและทางออก
ผู้สื่อข่าวถามว่า ถ้าฝ่ายค้านไม่เข้าร่วมด้วย คณะกรรมการชุดนี้จะเป็นไปได้หรือไม่ นายจุรินทร์ กล่าวว่า คิดว่าทางที่ดีที่สุดคือทุกฝ่ายควรจะเข้าร่วมเพื่อให้เป็นความเห็นพ้องต้องกัน
เมื่อถามย้ำว่า ถ้าไม่เข้าร่วมกรรมการชุดนี้จะเดินต่อไปหรือล้ม นายจุรินทร์ กล่าวว่า ตอบล่วงหน้าไม่ได้ และไม่อยากให้ด่วนสรุปว่าฝ่ายใดจะไม่เข้า เพราะตอนนี้ยังมองในแง่บวกว่าฝ่ายที่ยังตัดสินใจจะร่วมหรือไม่ร่วม เพราะยังขอดูรูปแบบของคณะกรรมการสมานฉันท์ก่อน มีองค์ประกอบเป็นใครและฝ่ายใดบ้าง รวมทั้งกฎกติกา การดำเนินการจะเป็นอย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาที่ทุกคนต้องขอดูก่อน
เมื่อถามถึงความเป็นไปได้ของข้อเสนอนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่ให้ทำประชามติถามความเห็นประชาชนห้ามชุมนุม 2 ปีเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจก่อน นายจุรินทร์กล่าวว่า ไม่มีความเห็น และไม่ขอให้ความเห็น ซึ่งการทำประชามติตามรัฐธรรมนูญจะถามเรื่องตัวบุคคลไม่ได้ว่าเห็นด้วยกับคนนั้นหรือคนนี้หรือไม่ ยกเว้นเป็นเรื่องที่รัฐธรรมนูญเปิดโอกาสให้ทำได้ และหากจะมีใครหยิบยกเรื่องนี้ไปคุยในคณะกรรมการสมานฉันท์ และอาจจะเป็นหัวข้อหนึ่งก็ได้ แต่ไม่ใช่ว่าจะสนับสนุน เพราะทุกอย่างต้องคำนึงถึงหลักการ
เมื่อถามว่า ขณะนี้ฝ่ายค้านเสนอให้นายกรัฐมนตรีลาออกเพียงอย่างเดียว นายจุรินทร์ กล่าวว่า เป็นความเห็นของฝ่ายหนึ่ง ก็ต้องไปคุยว่าเห็นพ้องหรือเห็นต่างอย่างไร รวมถึงบางข้อเสนอที่ให้นายกฯอยู่ต่อหรือลาออกก็เป็นหนึ่งข้อเสนอที่ต้องไปดูในคณะกรรมการสมานฉันท์