วิปรัฐบาล เปิดรายงานผลศึกษาร่างแก้รธน. ก่อนรับหลักการ กว่า 400 หน้า คาดบรรจุวาระ 17-18 พ.ย. นี้ ย้ำนายกฯ ต้องอยู่ต่อ แก้ปัญหาประเทศ ไม่ติด 3 แนวทาง คกก. สมานฉันท์ พร้อมให้ความร่วมมือ
นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล เป็นประธานการประชุม วิปรัฐบาล โดยก่อนการประชุม เปิดเผยว่า รานงานผลการศึกษา ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 6 ร่าง ก่อนรับหลักการ ได้จัดทำแล้วเสร็จ หนากว่า 400 หน้า คาดว่าจะสามารถพิจารณา พร้อมกับร่างแก้ รธน. ของ ไอลอว์ ที่มีหลักการคล้ายคลึงกับร่างของฝ่ายค้านและรัฐบาล ในญัตติที่ 1 และ 2 ซึ่งเนื้อหาบรรจุการตั้ง ส.ส.ร. เพื่อยกร่างรธน. ฉบับใหม่ แตกต่างที่รายละเอียดเล็กน้อย โดยการดำเนินการจะยึดร่างของรัฐบาลเป็นหลัก ส่วนหากจะมีการแก้ไข ให้ไปพิจารณาในชั้นแปรญัตติ ซึ่งคาดว่าจะนำมาพิจารณาราววันที่ 17-18 พฤศจิกายนนี้ ขึ้นอยู่กับประธานรัฐสภากำหนดวัน โดยการชี้แจงรายงานฉบับนี้คาดว่าจะใช้เวลาครึ่งวัน หลังจากนั้นสามารถโหวตได้ทันที
ส่วนท่าทีของ สมาชิกวุฒิสภา เริ่มดีขึ้น ทั้งนี้อยู่การลงมติของสมาชิกอีกครั้ง ส่วนที่ นายแพทย์วรงค์ เดชกิจวิกรม แกนนำกลุ่มไทยภักดี ค้านการแก้ไข รธน. นั้น ก็เป็นเรื่องของ หมอวรงค์ แต่นี่เป็นมติของวิปรัฐบาล ที่เห็นชอบเสนอร่าง ปฏิเสธว่า ไม่ได้ทำตามข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุม แต่เป็นไปตามกระบวนการของรัฐสภา
ส่วนเรื่องการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ ล่าสุดมี 3 แนวทางตามการเสนอสถาบันพระปกเกล้า ที่แจ้งต่อประธานรัฐสภา คือ แนวทางแรก เป็นไปตามที่สมาชิกรัฐสภาเสนอให้มาจาก 7 ฝ่าย แนวทางที่ 2 ตัดผู้ชุมนุมทั้งที่คัดค้านและสนับสนุน ออก เหลือ 5 ฝ่าย โดยมีประธานเป็นคนกลาง และแบบสุดท้าย ประธานรัฐสภา จะต้องหาคนกลาง และประกอบด้วยบุคคลภายนอกทั้งหมด คาดว่าไม่เกิน 1 สัปดาห์ จะมีความชัดเจน ส่วนที่ฝ่ายค้านมีท่าทีไม่ตอบรับนั้น นายวิรัช ขอให้ฝ่ายค้านได้ศึกษารายงานก่อน เพราะขณะนี้ฝ่ายค้านยังไม่ได้ทำอะไรเลย ซึ่งวิปรัฐบาล ก็เห็นด้วยกับทั้ง 3 แนวทาง หากจะมีการเลือกแนวทางใดแนวทางหนึ่ง
ส่วนกรณีที่ฝ่ายค้าน ตั้งเงื่อนไขว่าหนทางเดียวในการแก้ปัญหา คือ นายกรัฐมนตรี ต้องลาออก นายวิรัช กล่าวว่า ขอให้ทำตามเงื่อนไขที่พอเป็นไปได้ พร้อมยืนยันว่า นายกรัฐมนตรี จะต้องอยู่ต่อเพื่อแก้ไขปัญหา ส่วนข้อเรียกร้อง ก็เป็นเรื่องของผู้ชุมนุม แต่ก็ต้องฟังความเห็นของคนส่วนใหญ่
ทั้งนี้วิปรัฐบาล เตรียมพิจารณา ร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ที่รัฐบาลเสนอมา ซึ่งจัดตั้งคณะอนุกรรมมาธิการขึ้นมาศึกษา คาดว่าจะประชุม 2 ถึง 3 ครั้ง แต่ทั้งนี้ประธานรัฐสภา ยังไม่ได้บรรจุวาระ คาดว่าปลายเดือนนี้น่าจะบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมได้