“วิษณุ” ปัดลงความเห็น สภาฯตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ แก้วิกฤตการเมือง ชี้ ตั้งคำถามพ่วงพ.ร.บ. เลือกตั้ง นายกฯควรลาออกหรือไม่ ได้ แต่ให้ลงประชามติรายบุคคลไม่ได้ ไม่ขอตอบต้องแยบคลาย จะกลายเป็นรัฐบาลชี้นำ

Highlight, การเมือง
29 ตุลาคม 2020

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวที่ส.ส.ไม่สามารถเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งท้องถิ่นนั้นจะรวมกับการเลือกตั้งของกทม.ด้วยหรือไม่นั้น โดยระบุว่า ตนไม่ทราบ แต่น่าจะเป็นบรรทัดฐาน ซึ่งต้องให้คณะกรรมการการเลือกตั้งหรือ กกต.เป็นผู้ชี้ขาด ซึ่งตนได้ทราบว่าฝ่ายกฎหมายของ กกต. ได้เสนอ แต่จะต้องให้กกต.ชุดใหญ่เป็นผู้ชี้ขาดและให้คำแนะนำอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งขอให้รอฟัง แต่หากว่ามีคำชี้ขาดว่าอย่างไรก็ให้เป็นบรรทัดฐานของการเลือกตั้งท้องถิ่นต่อไป ส่วนจะถูกหรือผิดนั้นก็ให้เป็นหน้าที่ของ กกต.เป็นผู้ชี้ขาด ซึ่งคาดว่าจะมีการหารือภายในวันจันทร์นี้ (2พ.ย.63)

ส่วนการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ ที่ฝ่ายค้านจะไม่เข้าร่วมนั้น นายวิศษณุ ระบุว่า ตนไม่ทราบเรื่อง เนื่องจากเป็นเรื่องของทางสภาฯ พร้อมกับไม่ทราบว่าทางสภาฯมอบหมายให้สถาบันพระปกเกล้าออกแบบโครงสร้างของคณะกรรมการชุดดังกล่าว รวมไปถึงไม่ทราบว่าจะต้องมีการเชิญกลุ่มผู้ชุมนุมให้เข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมการชุดดังกล่าวด้วยหรือไม่ อยู่ที่ประธานรัฐสภาจะกำหนดว่าโครงสร้างดังกล่าวจะเป็นอย่างไร ซึ่งข้อเสนอการตั้งคณะกรรมการชุดนี้มาจากหลายฝ่าย ทั้งส.ส.และ สว. พร้อมปฏิเสธว่าไม่ได้โยนเรื่องนี้ให้ฝ่ายนิติบัญญัติ แต่อยู่ในอำนาจของประธานรัฐสภา ส่วนในซีกรัฐบาลไม่ได้เล็งบุคคลใดเข้าร่วมคณะกรรมการชุดนี้เป็นพิเศษ ซึ่งตนก็ยังไม่ทราบว่าองค์ประกอบคืออะไร แต่หากรู้ก็อาจจะมาพิจารณากันต่อ

ส่วนแนวทางของรัฐสภาจะสามารถเป็นทางออกได้หรือไม่นั้นเพราะในอดีตที่ผ่านมาไม่ประสบความสำเร็จ นายวิษณุ กล่าวว่า ก็ไม่มีวิธีอื่น จะตั้งเป็นคณะกรรมการก็ไม่เข้าข้อบังคับ แต่หากใช้ข้อบังคับของประธานสภาก็สามารถเดินหน้าต่อไปได้ ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับตัวบุคคลผู้เข้าร่วม และขึ้นอยู่กับโจทย์ที่ตั้งไว้ว่าให้คณะกรรมการชุดนี้ทำอะไร ซึ่งตนก็ตอบไม่ถูกเพราะเป็นเรื่องของข้อเสนอจากสมาชิกรัฐสภา โดยนายวิษณุระบุว่า ตนไม่ทราบว่าคณะกรรมการชุดดังกล่าวจะต้องมีทุกฝ่ายเข้าร่วมหรือไม่ เนื่องจากตนไม่ใช่เจ้าของความคิด และหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่เข้าร่วมจะทำให้ปัญหายุติลงหรือเดินหน้าต่อไปได้นั้น นายวิษณุ ระบุว่า คณะกรรมการชุดนี้คงไม่สามารถหาข้อยุติแต่สามารถหาแนวทางปฏิบัติที่นำไปสู่ทางออกได้ และไม่สามารถสรุปได้ว่าจะสามารถยุติปัญหาได้หรือไม่ และยังไม่ได้มีการหารือถึงกรอบเวลา

ส่วนกรณีที่ตนได้พูดในที่ประชุมสภาสมัยวิสามัญ ว่า จะมีการทำประชามติตั้งคำถามขอความเห็นประชาชนว่านายกรัฐมนตรีควรลาออกหรือไม่นั้น นายวิษณุ ระบุว่า ซึ่งอาจจะเป็นคำถามพ่วงในการเลือกตั้งนายก อบจ. แต่หากจะตั้งคำถามนี้ออกมาเป็นประชามติเฉพาะก็ไม่ใช่ เนื่องจากการทำประชามติไม่สามารถทำประชามติในเรื่องเฉพาะบุคคลได้ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 166 ซึ่งประชามติที่มีความจำเป็นกระทันหันก็สามารถออกเป็น พ.ร.ก. ได้ ซึ่งเป็นการใช้เฉพาะคราวครั้งเดียวเลิก และตนไม่ขอตอบว่าเห็นควรจะออกพ.ร.ก.ดังกล่าวหรือไม่ และไม่สามารถลงความเห็นว่ามีข้อดีข้อเสียอย่างไรเนื่องจากเป็นความเห็นจากทางสภา ส่วนคำถามแนบท้ายจะต้องมีความแยบคลายตนไม่สามารถตอบได้ เพราะจะกลายเป็นว่ารัฐบาลเป็นผู้ชงเอง

บทความที่เกี่ยวข้อง