ศาสตราจารย์พิเศษพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา กล่าวถึงกรณีที่นักวิชาการออกมาท้วงติงว่าหาก ส.ว.ไม่เปลี่ยนจุดยืนในการลงมติรับหลักการเพื่อเปิดทางแก้รัฐธรรมนูญอาจจะถูกจารึกในประวัติศาสตร์ว่าทำลายประชาธิปไตยนั้น โดยปฏิเสธว่า ส.ว.ตั้งจุดยืนในการลงมติในชั้นรับหลักการ ญัตติการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ญัตติการแก้รัฐธรรมนูญ และไม่เห็นว่ามีใครมีจุดยืนใด
โดยชี้ว่าเป็นเพียงข้อกังวลว่าญัตติจะไม่ผ่านวาระรับหลักการ ขณะเดียวกันเป็นข้อกฎหมายจึงไม่ได้เกี่ยวกับ ส.ว. ทั้งนี้ ส.ว.ต้องระมัดระวังในการลงมติ และส่วนตัวเห็นว่าจุดยืนในทางความเป็นจริงที่ต้องยึดมั่นในสิ่งที่ถูกต้อง คือส.ว.ต้องมีอิสระ เพราะ ส.ว.ไม่ใช่นักการเมือง ต้องมีดุลยพินิจ เป็นผู้ทรงคุณวุฒิและนี่คือจุดยืน ส.ว. ที่ต้องพิจารณารัฐธรรมนูญให้ดีเพราะเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ พร้อมย้ำว่าต้องรับฟังผลการพิจารณาของกรรมาธิการวิสามัญศึกษาญัตติของรัฐสภา ก่อนพิจารณาลงมติ
ส่วนข้อกังวลของ ส.ว.บางส่วนว่าจะต้องทำประชามติถามความเห็นประชาชนก่อนการแก้รัฐธรรมนูญว่าเห็นด้วยหรือไม่นั้น ประธานวุฒิสภายอมรับว่าลำบากใจในการตอบ เพราะเรื่องนี้ยังเป็นข้อถกเถียงของนักกฎหมาย จึงพยายามไปศึกษาเช่นกันว่าเป็นอย่างไร
ขณะเดียวกันมีการตั้งคณะอนุกรรมาธิการศึกษารายงานว่าซึ่งต้องฟังรายงาน หลังจากนี้ต้องดูว่า ส.ว.จะพิจารณาอย่างไร เพราะฝ่ายหนึ่งบอกว่าให้ทำประชามติตอนนี้ก่อนที่การรับหลักการหรือหลังรับหลักการ ซึ่งจะต้องให้ได้ข้อยุติในประเด็นนี้ และมีการหารือในข้อกฎหมายหากดำเนินการไม่ถูกต้องอาจขัดต่อกฎหมายได้ ซึ่งยอมรับตามตรงว่ายังไม่เข้าใจในเรื่องนี้ จึงยังไม่สามารถตอบได้ชัดขณะนี้
ส่วนข้อกังวลว่ารัฐสภาอาจตีตกในวาระรับหลักการในช่วงเปิดสมัยประชุมหน้า ทำให้ต้องไปเริ่มกระบวนการใหม่ในสมัยประชุมปี 2564 เดือนพฤษภาคมนั้น ศาสตราจารย์พิเศษพรเพชร ยืนยันว่าไม่ใช่ธงที่ตั้งไว้ ทำไมต้องถูกตีตกไป ยืนยันไม่มีความคิดเรื่องนี้จากที่ฟังเสียงของ ส.ว. เพราะแต่ละคนจะรับฟังผลศึกษาแต่ละร่างฯไป 2 ญัตติแรกก็มีการพิจารณาควบคู่กันไปคือแก้มาตรา 256 และการตั้ง ส.ส.ร.ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ส่วนอีก 4 ญัตติเป็นการแก้เฉพาะเรื่อง ต้องดูความเห็น ส.ว. และขอให้สื่อมวลชนติดตามรายงานการศึกษาของกรรมาธิการวิสามัญฯ ซึ่งผลการศึกษาไม่ได้ชี้นำการลงมติ แต่จะแจงในข้อกฎหมาย
สำหรับความเห็นส่วนตัวในญัตติการแก้มาตรา 256 และการตั้ง ส.ส.ร.ที่ทั้งพรรคร่วมฝ่ายค้านและพรรคร่วมรัฐบาล รวมถึงนายกรัฐมนตรีก็สนับสนุนนั้น ศาสตราจารย์พรเพชรกล่าวว่า เมื่อมีกฎหมายมาเห็นว่าเป็นประโยชน์แก่ประเทศก็จะรับไว้ รวมถึงการแก้รัฐธรรมนูญมีปัญหาอะไรสามารถแก้ไขได้หรือไม่ เพราะหากมีปัญหาเรื่องรัฐธรรมนูญถือว่าเป็นเรื่องใหญ่
นอกจากนี้ประธานรวุฒิสภากล่าวว่ายังไม่ได้นำรายชื่อ ส.ว.ตำแหน่งด้านความมั่นคงขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมเพื่อพิจารณาแต่งตั้ง อยู่ระหว่างการตรวจสอบ และคาดการณ์ไม่ได้ว่าจะแล้วเสร็จทันต่อเข้าร่วมประชุมรัฐสภาในญัตติการแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่
หรือเมื่อหาก ส.ว.ตำแหน่งด้านความมั่นคงปฏิบัติหน้าที่แล้ว จะเข้าร่วมในการพิจารณาญัตติการแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ ขอให้ไปถาม ส.ว.เอง เพราะไม่เคยกำชับใคร ไม่ประชุมก็อย่าประชุม เพราะถือว่าเป็นสิทธิและหน้าที่ของ ส.วแต่ละคนที่จะพิจารณาตามความเหมาะสม รวมถึง ส.ว.คนอื่นๆ หลังมีการตั้งข้อสังเกตว่า ส.ว.ด้านความมั่นคงไม่ได้เข้าร่วมในญัตติการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งที่ผ่านมาเมื่อวันที่ 23-24 กันยายน