นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จัทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญและสั่งการให้ทุกส่วนราชการเตรียมความพร้อมในการบริหารราชการภายใต้สถานการณ์วิกฤต ซึ่งรัฐบาลได้มีการกำหนดและดำเนินการตามนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ.2562–2565 โดยมีสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นผู้รับผิดชอบหลัก และในปี 2563 แม้มีช่วงของการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทำให้การฝึกในบางเรื่องต้องเลื่อนออกไป แต่รัฐบาลได้จัดการฝึกบริหารวิกฤตการณ์ระดับชาติ (C-MEX 20) ถึง 3 ครั้ง ประกอบด้วย 1) การฝึกประเด็นการบริหารจัดการสาธารณภัยจากปัญหาหมอกควันและไฟป่าในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ (เดือนมกราคม) 2) การฝึกประเด็นการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล และ 3) การฝึกประเด็นการต่อต้านการก่อการร้าย มีวัตถุประสงค์เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ ได้นำแผนเผชิญเหตุของหน่วยงานมาทดสอบเพื่อทราบจุดแข็งและจุดอ่อน ตลอดจนสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกลไกและกระบวนการบริหารจัดการภัยตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุ ขณะเกิดเหตุ และหลังเกิดเหตุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการฟื้นฟูและเยียวยาพื้นที่ สังคม และชุมชนภายหลังการแก้ไขปัญหา สำหรับการฝึกในอนาคตจะนำปัญหาอุปสรรคและแบบอย่างที่ดีที่ได้รับจากการฝึกครั้งที่ผ่านมาไปพัฒนาให้การฝึกในครั้งถัดไปมีความสมจริงมากยิ่งขึ้น โดยอาจเพิ่มประเด็นการรับมือกับโรคที่อุบัติใหม่รวมถึงการป้องกัน และการปราบปรามการลักลอบขนส่งอาวุธที่มีอนุภาพทำลายล้างสูงทั้งทางบกและทางน้ำ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถตอบสนองต่อภัยคุกคามรูปแบบใหม่ที่อาจเกิดขึ้น
นางสาวรัชดา กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำให้ส่วนราชการเต็มที่กับการฝึกการบริหารภายใต้สถานการณ์วิกฤตด้านต่างๆ เพื่อประชาชนจะได้มีความเชื่อมั่นและสบายใจในศักยภาพของหน่วยงานภาครัฐที่สามารถรับมือกับภัยคุกคามความมั่นคงทุกรูปแบบได้อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ นายกฯยังได้กำชับด้วยว่า การบูรณาการการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นหัวใจสำคัญ ต้องสอดประสานกันอย่างชัดเจนตามแผนและแนวปฏิบัติ เพื่อช่วยป้องกันความสับสนเมื่อเกิดสถานการณ์จริง รวมทั้งเพิ่มความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน และเป็นไปตามมาตรฐานสากล การทบทวนฝึกการบริหารวิกฤตการณ์ระดับชาติอยากต่อเนื่อง จึงเป็นเรื่องจำเป็นและรัฐบาลพร้อมให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่