นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2563 ว่า ตามที่กรุงเทพมหานครได้มีการจัดระเบียบพื้นที่และจัดระเบียบการค้าบนทางเท้า ซึ่งส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพของผู้ค้าหาบเร่และแผงลอยในกรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเลื่อมล้ำ วุฒิสภา ได้ทำการศึกษาข้อเสนอเชิงนโยบายการบริหารจัดการหาบเร่และแผงลอยในกรุงเทพมหานคร โดยกระทรวงมหาดไทยได้ร่วมประชุมกับกรุงเทพมหานครและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีข้อสรุปเสนอให้ ครม. ซึ่ง ครม.ได้มีมติเห็นชอบ และบางเรื่อง กทม.ได้ดำเนินการแล้ว ดังนี้
มาตรการระยะเร่งด่วน (1-6 เดือน) เช่น 1)กทม. ให้ทุกสำนักงานเขตที่จะยกเลิกจุดผ่อนผัน นำเรื่องเข้าสู่การพิจารณายกเลิกของคณะกรรมการจัดระเบียบหาบเร่และแผงลอยระดับเขต โดยจัดหาสถานที่รองรับผู้ค้าให้สามารถประกอบอาชีพต่อไปในพื้นที่หรือตลาดของราชการและเอกชนที่อยู่ในพื้นที่ขายเดิม พร้อมทั้งช่วยเจรจากับเจ้าของตลาดในการยกเว้นเงินกินเปล่า ยกเว้นค่าเช่า 3-6 เดือนแรก คิดค่าเช่าค่าสาธารณูปโภคในอัตราที่ต่ำสุด และให้เช่าในระยะยาวพอสมควรสามารถรองรับผู้ค้าหาบเร่แผงลอยได้ถึง 12,809 ราย 2)สำนักพัฒนาชุมชนได้จัดทำโครงการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ Bangkok Brand สู่ Online และ 3)กทม.จัดโครงการถนนคนเดิน (Walking Street) ในบางแห่งไปแล้ว เพื่อช่วยเหลือผู้ค้าที่ได้รับผลกระทบจากการจัดระเบียบ แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จึงจำเป็นต้องเลื่อนแผนการจัดในเขตอื่นๆ ออกไป
มาตรการระยะกลาง (6-12 เดือน) เช่น 1) กทม.แต่งตั้งคณะกรรมการระดับนโยบายและคณะกรรมการระดับพื้นที่เพื่อพิจารณาจุดผ่อนผัน 2)กทม. พิจารณาจุดผ่อนผันในพื้นที่ว่างของหน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ ซึ่งขณะนี้ กทม. อยู่ระหว่างการเจรจาขอใช้พื้นที่ว่างของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย การรถไฟแห่งประเทศไทย การท่าเรือแห่งประเทศไทย และกรมธนารักษ์ ฯลฯ หากหน่วยงานดังกล่าวอนุญาตจะเร่งรัดดำเนินการพัฒนาเป็นพื้นที่การค้าสำหรับผู้ค้าที่ได้รับผลกระทบจากการจัดระเบียบ และผู้มีรายได้น้อยและผู้ด้อยโอกาส
มาตรการระยะยาว (1-3 ปี) เช่น 1)กทม.จะพิจารณาปรับปรุงแก้ไขกฎหมายพร้อมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ พ.ร.บ.รักษาความสะอาดความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2560 พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 เป็นต้น 2) กทม.ดำเนินการปรับภูมิทัศน์ที่มีเอกลักษณ์ซึ่งเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว เช่น ถนนข้าวสาร ซึ่งดำเนินการเสร็จแล้ว และจะขยายไปยังพื้นที่อื่น เช่น ถนนไกรสีห์ ถนนตานี ถนนรามบุรี ท่าน้ำวังหลัง เป็นต้น พร้อมทั้งออกแบบแผงค้าหรืออุปกรณ์การค้าให้มีอัตลักษณ์โดดเด่นของแต่ละพื้นที่ 3)กทม.ออกประกาศหลักเกณฑ์เงื่อนไขการกำหนดพื้นที่ทำการค้าหรือขายสินค้าในพื้นที่สาธารณะ ลงวันที่ 28 มกราคม 2563 โดยกำหนดแนวทางและวิธีการจัดทำประชาพิจารณ์ หรือสำรวจความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อการค้าหาบเร่แผงลอย จำนวน 4 กลุ่ม ที่อยู่ในรัศมี 400 เมตร คือ ผู้ใช้ทางเท้า ผู้ที่อยู่อาศัยบริเวณนั้น ผู้มีสถานที่ทำงานบริเวณนั้น และเจ้าของอาคารผู้ประกอบการบริเวณนั้น โดยให้สถาบันการศึกษาหรือสำนักงานเขตพื้นที่เป็นผู้ดำเนินการ
นางสาวรัชดา กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินการตามข้อเสนอเชิงนโยบายดังกล่าวเป็นการเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานราก และเป็นมาตรการรองรับเพื่อสร้างสมดุลแก่ผู้ค้าหาบเร่แผงลอยให้สามารถประกอบอาชีพต่อไปได้ ในขณะที่ประชาชนสามารถใช้พื้นที่สาธารณะได้อย่างปลอดภัย อีกทั้งยังคงเสน่ห์อาหารริมทาง (สตรีทฟู้ด) ของกรุงเทพมหานครได้เป็นอย่างดี โดยหลายเรื่อง กทม.ก็ได้ดำเนินการไปเรียบร้อยแล้ว