นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล และโฆษกคณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน ประเมินถึงการชุมนุมของกลุ่มประชาชนปลดแอก ในวันที่19 กันยายนนี้ว่า อาจจะมีผู้ร่วมชุมนุมถึง 1 แสนคน ขณะเดียวกันก็มีรายงานข่าวว่าอาจจะมีสถานการณ์ต่างๆ ดังนั้นในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ และ ส.ส.พรรคก้าวไกล จะจับตาการชุมนุม โดยจะมี ส.ส.เข้าไปร่วมสังเกตการณ์การชุมนุมในวันดังกล่าว เพราะมีความห่วงใยเรื่องของสถานการณ์ความรุนแรง โดยเชื่อว่าตลอดการชุมนุมที่ผ่านมา ผู้ชุมนุมไม่เคยมีประวัติสร้างความรุนแรงในการชุมนุม แต่เห็นว่าคนที่มีความสามารถจะสร้างความรุนแรงได้ เจ้าหน้าที่ของรัฐจะรู้ดีที่สุด โดยเรียกร้องให้ตำรวจดูแลความปลอดภัยของผู้ชุมนุมให้ดีที่สุด
ขณะเดียวกันอ้างอิงถึงประการณ์ที่ตนเคยเป็นแกนนำการชุมนุมว่าแม้จะมีการปล่อยข่าวเรื่องของความรุนแรง แต่ท้ายที่สุดก็ไม่ได้เกิดเหตุการณ์ใด และเชื่อว่าในการชุมนุมครั้งนี้ แม้จะมีผู้ชุมนุมจำนวนมาก แต่หากเจ้าหน้าที่รัฐดูแลอย่างเข้มงวด จะไม่เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงอะไร
นอกจากนี้ ยังเห็นว่า ในฐานะกรรมาธิการการกฎหมายฯ จะต้องให้ความสำคัญในประเด็นสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะการดำเนินคดีกับผู้ชุมนุม ที่เชื่อว่าไม่ควรดำเนินคดีกับผู้ชุมนุม ตามข้อกล่าวหามาตรา116 ซึ่งจะนำเข้าหารือในกรรมาธิการต่อไป ซึ่งหากมีการละเมิดสิทธิมนุษยชน กรรมาธิการจะเข้าไปดูแล และกรรมาธิการพร้อมปกป้องประชาชน และเชื่อว่าผู้ชุมนุมยังจัดการชุมนุมที่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ
นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุม เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วยการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)รวมถึงในญัตติอื่นๆ ที่ฝ่ายค้านและรัฐบาลได้ยื่นญัตติไปจะได้รับการตอบรับจากสมาชิกรัฐสภาหรือไม่ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การชุมนุมในวันที่19 กันยายนนี้ด้วย โดยย้ำว่า ทั้งรัฐบาล ส.ส.และส.ว.จะให้ความสำคัญกับสถานการณ์การเมืองที่มีการชุมนุมที่อนุเสาวรีย์ประชาธิปไตย ในพื้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และสนามหลวง โดยเชื่อว่าส.ว.ไม่กล้า ตีตกญัตติการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ก็ไม่มั่นใจว่าแต่ละญัตติ ส.ว.จะโหวตอย่างไร