“เบญจา” ส.ส.ก้าวไกล ย้ำ รธน.หมวด1-2 สามารถแก้ไขได้ แนะสภาเปิดพื้นที่ปลอดภัยให้มีการพูดคุย

Highlight, การเมือง
10 กันยายน 2020

นางสาวเบญจา แสงจันทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้ขอตั้งคำถามและตั้งข้อสังเกตของรายงานผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาปัญหาหลักเกณฑ์และแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ว่า ทำไมในรายงานฉบับนี้ถึงไม่มีความเห็นของการแก้ไขในหมวด1 ซึ่งเป็นบททั่วไป และหมวด2 ซึ่งเป็นหมวดพระมหากษัตริย์ ซึ่งในรายงานฉบับนี้ได้มีการชี้แจงไว้ว่าไม่มีประเด็นที่จะต้องพิจารณาศึกษาและยังเห็นว่าควรข้ามไป แต่ตามข้อเท็จจริงแล้วในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ไม่ได้มีมาตราใดที่กำหนดไว้ห้ามแก้ไขหมวด1และหมวด2 หรือแม้แต่มาตรา 255 ก็บัญญัติไว้ว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐจะกระทำมิได้ จะเปลี่ยนแปลงการปกครองไปเป็นอย่างอื่นที่ทำให้กระทบกับรูปแบบการปกครองหรือเกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐจักกระทำไม่ได้ รวมถึงในรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ก็มีการบัญญัติไว้ว่าในกรณีร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเป็นการแก้ไขในหมวด1หรือหมวด2 ก่อนจะดำเนินการก็ให้จัดให้มีการออกเสียงประชามติ ตามกฏหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติก่อน และหากผลของการออกเสียงประชามติของประชาชนไม่เห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมแล้วก็ถือว่ารัฐธรรมนูญฉบับนั้นไม่ผ่าน ดังนั้นจึงต้องการยกตัวอย่างให้เห็นภาพในกรณีของการแก้ไขหมวด1 ซึ่งเคยมีการถกเถียงกันมาทุกยุคทุกสมัย และมีการแก้ไขกันมาตลอด ว่าอำนาจอธิปไตยมาจากประชาชนหรืออำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน จนสุดท้ายได้ถกเถียงกันจนสรุปว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน หรือยกตัวอย่างในหมวด2ในบางมาตราก็ได้มีการอภิปรายกันในสภาและมีการพูดถึงและแก้ไขกันมาตลอด เช่น มีการแก้ไขเพิ่มเติมในหมวด2 ในส่วนขององคมนตรี ซึ่งหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ก็มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมและรับรองสถานะขององคมนตรีในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2492 เป็นครั้งแรก อย่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่รับรององคมนตรีก็บัญญัติให้มีจำนวนองคมนตรี 5 คน แต่หลังจากนั้นก็มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มจำนวน จนฉบับปัจจุบันก็มีการแก้ไขว่าเปลี่ยนเป็นองคมนตรีจำนวน 19 คน นี่เป็นการยืนยันว่ารัฐธรรมนูญทุกฉบับมีการแก้ไขในหมวด1และหมวด2 มาโดยตลอด รวมถึงอย่างอำนาจหน้าที่ขององคมนตรี ก็มีการแก้ไขและมีการเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านภารกิจของอำนาจและหน้าที่

“ทั้งนี้สิ่งที่ดิฉันอภิปรายแบบนี้ ดิฉันและพรรคก้าวไกล ต้องการที่จะธำรงไว้ซึ่งระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่อยู่เหนือการเมืองและอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง ดังนั้นกรรมาธิการเองที่เป็นตัวแทนจากสภาก็ควรที่จะเปิดรับฟังและเปิดพื้นที่ในการที่จะศึกษาและปล่อยให้ทุกฝ่ายได้มีการถกเถียงเรื่องนี้ ไม่ใช่ล็อกไม่ให้มีการศึกษา ไม่ให้แก้หมวด1และหมวด2 การทำแบบนี้ก็เป็นการแช่แข็งประเทศ และการไม่เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้พูดคุย หรือ หรือเสนอทางออกของตัวเอง” นางสาวเบญจา กล่าว

นางสาวเบญจา กล่าวว่า รัฐธรรมนูญทุกฉบับไม่ได้เขียนว่าห้ามแก้ไข และรัฐธรรมนูญทุกฉบับก็ยังได้มีการเปิดช่องไว้ว่าให้มีการแก้ไขได้ เพียงแต่รัฐธรรมนูญปี 2560 เป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้ร่างมาเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง จึงทำให้เกิดการแก้ไขได้ยาก ทั้งนี้เหตุผลที่ตนตั้งข้อสังเกตแบบนี้ เพราะได้เห็นการชุมนุมเรียกร้องของนักเรียน นักศึกษา ประชาชนในหลายจังหวัดทั่วประเทศ และมีข้อเสนอ3ข้อ 2จุดยืน และ1ความฝัน ซึ่งประเด็นหลักในเวทีที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ ประชาชนส่วนใหญ่และนักศึกษาเห็นว่าจะต้องมีการแก้ไขบางมาตราได้หมวด1และหมวด2 แม้แต่เวทีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่สะท้อนความต้องการของพวกเขาต่อข้อเสนอ 10 ข้อ ดังนั้นตนจึงอยากตั้งข้อสังเกตไปยังกรรมาธิการ ซึ่งเป็นผู้แทนราษฎรที่มาจากประชาชน ว่าเราเองมีหน้าที่ที่จะต้องรับฟังข้อเสนอของนักเรียน นักศึกษา เยาวชน พี่น้องประชาชนทุกกลุ่ม ที่ตะโกนบอกเสียงของเขา บอกกล่าวความต้องการของพวกเขา ว่าต้องออกแบบสังคมที่เขาอยากอยู่ร่วมกันแบบไหน ซึ่งเราต้องรับฟังพวกเขาอย่างจริงใจ มีสติ และมีวุฒิภาวะต่อข้อเสนอต่างๆอย่างเพียงพอ ต้องการหาจินตนาการใหม่ ข้อตกลงใหม่ รัฐธรรมนูญใหม่ หาฉันทามติว่าประเทศไทยแบบไหนที่ทุกคนอยากจะอยู่ร่วมกัน

“ดังนั้นยังเห็นว่ารัฐธรรมนูญสามารถแก้ไขได้ โดยต้องเปิดพื้นที่ปลอดภัยให้มีการพูดคุยเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ทุกมาตรา ที่กล่าวอย่างนี้ไม่ใช่ดิฉันและพรรคก้าวไกลเสนอให้แก้ในหมวด1 หรือหมวด2 ดิฉันยังยืนยันในคำพูดว่าเราแค่เสนอว่ามันสามารถแก้ไขได้ และขออย่าให้ใครเอาคำพูดนี้ไปบิดเบือน ว่าเราก้าวล่วง ซึ่งมันเป็นคนละเรื่องกัน ในส่วนของผู้ที่จะนำไปร้องขอให้เลิกเถอะค่ะ ถ้าจะร้องท่านก็ควรจะไปร้องกับกลุ่มนายทหารทั้งหลายที่ได้ก่อการรัฐประหาร ยึดอำนาจการปกครองและประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ทั้งตั้งตนเป็นรัฏฐาธิปัตย์ และเขียนรัฐธรรมนูญใช้เอง ซึ่งคนทำมีความผิดฐานกบฏและมีโทษประหารชีวิต เหตุการณ์แบบนี้ต่างหากที่เราคนไทยจะยอมรับไม่ได้” นางสาวเบญจา กล่าว

ทั้งนี้ นางสาวเบญจา ยังได้กล่าวต่อว่า หากผู้แทนที่มาจากประชาชน มาจากการเลือกตั้งของประชาชน จะใช้กระบวนการตามรัฐธรรมนูญแก้ไขรัฐธรรมนูญ คืนอำนาจกลับไปให้ประชาชนผู้ทรงอำนาจสูงสุดและเป็นผู้ทรงอำนาจในการสถาปนารัฐธรรมนูญ ให้เขาเลือกสภาร่างรัฐธรรมนูญ มาทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เช่นนี้โดยไม่ต้องล็อคการแก้หมวดใดหมวดหนึ่ง นี่ต่างหากเป็นเรื่องที่ทำได้และยอมรับได้ นี่คือกระบวนการที่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญและมีความชอบธรรมมากกว่าคณะรัฐประหารที่แย่งชิงอำนาจไปจากประชาชน

บทความที่เกี่ยวข้อง