นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 สภาผู้แทนราษฎร นำเสนอรายงานของกรรมาธิการฯในการแก้รัฐธรรมนูญ หลังกรรมาธิการฯ ศึกษาหาข้อมูล ประกอบการแก้ไขเพิ่มเติม และรวบรวมความเห็นอย่างรอบด้านเสร็จสิ้น โดยไม่มีความคิดใดถูก หรือผิด เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูล โดยยึดผลประโยชน์ของประเทศ และประชาชนเป็นหลัก จึงเสนอให้การแก้ไขมาตรา 256 เพื่อให้สามารถแก้ไขส่วนอื่นๆ ที่เป็นปัญหาได้ง่ายขึ้น และเมื่อพิจารณารายมาตราแล้ว พบว่า ทั้งเรื่องสิทธิเสรีภาพประชาชน ,กระบวนการยุติธรรม ที่ควรมีระบบถ่วงดุล ,หน้าที่ของรัฐ ที่ประชาชนควรมีอำนาจกำกับการใช้อำนาจรัฐได้ ซึ่งเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญในอดีตแล้ว มีเนื้อหาสาระดีกว่า จึงควรนำรายละเอียดรัฐธรรมนูญในอดีตมาปรับใช้เพิ่มเติมในปัจจุบัน โดยกรรมาธิการเสนอให้มีการยกร่างขึ้นมาใหม่ โดยให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากประชาชน และจัดให้มีการออกเสียงประชามติ ส่วนสถานะองค์กรต่าง ๆ ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
นายพีระพันธุ์ ยังกล่าวถึงแผนยุทธศาสตร์ชาติตามรัฐธรรมนูญว่า ควรมีการแก้ไขให้ทุกภาคส่วนให้เข้ามามีส่วนร่วม เพื่อมุมมองหลากหลาย และปรับปรุงกรอบการทำยุทธศาสตร์ชาติให้เร็วขึ้น และอาจต้องปรับแผนทุกๆ 1-2 ปี
ส่วนบทบัญญัติการขัดกันแห่งผลประโยชน์ นายพีระพันธุ์ ชี้แจงว่า ควรมีการบัญญัติห้ามตุลาการ และสำนักงานศาลยุติธรรม เปิดอบรมหลักสูตรใด ๆ เพื่อไม่ให้มีการสร้างสายสัมพันธ์กับตุลาการศาล และรัฐสภา สามารถตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญได้บางกรณี รวมถึงมีกระบวนการตรวจสอบการใช้อำนาจขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญอย่างเหมาะสม ผ่านกระบวนการรัฐสภา เพราะยึดโยงกับประชาชน
นายพีระพันธุ์ ยังเปิดเผยผลสรุปการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวข้องกับระบบการเมืองว่า ในระบบการเลือกตั้ง ควรกลับไปใช้ระบบการเลือกตั้ง แบบบัตร 2 ใบ แบ่งเป็นระบบแบ่งเขต 400 คน และแบบบัญชีรายชื่อ 100 คน พร้อมยกเลิกระบบการคำนวณ ส.ส.ระบบปัจจุบัน รวมถึงยกเลิกขั้นตอนการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี / ขณะที่ บทบัญญัติว่าด้วยสมาชิกวุฒิสภา ตามบทเฉพาะกาล กรรมาธิการยังมีความเห็น 2 ชุด ได้แก่ การยกเลิกวุฒิสภาชุดปัจจุบัน และกลับไปใช้วิธีการคัดเลือกแบบทางอ้อม และการวุฒิสภาอยู่ปฏิบัติหน้าที่จนครบวาระ แต่ปรับลดอำนาจการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี และการติดตามการปฏิรูปประเทศออก รวมถึงยกเลิกนำหมวดว่าด้วยการปฏิรูปประเทศในรัฐธรรมนูญออก และนำไปบัญญัติเป็นกฎหมายรองแทน เพราะกระบวนการปัจจุบันล่าช้า และไม่มีความคืบหน้าใดๆ