นางสาวสุทธวรรณ สุบรรณ ณ อยุธยา ส.ส. นครปฐม พรรคก้าวไกล ได้อภิปรายรายงานผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาปัญหาหลักเกณฑ์และแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ว่า รายงานฉบับนี้หนามาก แต่ไม่มีส่วนไหนที่กล่าวถึงหมวด 1 บททั่วไป และหมวด2 พระมหากษัตริย์ ซึ่งมีถึง 24 มาตรา แต่ในรายงานก็ข้ามไปและไม่มีประเด็นใดที่จะพิจารณาศึกษา ซึ่งในรายงานชวเลขแยกรายบุคคลขึ้นต้นมาก็เป็นหมวดที่3 ดังนั้นจึงต้องการใช้พื้นที่ตรงนี้อภิปรายว่าการพิจารณาศึกษาหาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญหมวด1และหมวด2ไม่ใช่การล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์หรือเป็นการล้มล้างการปกครองแต่อย่างใด
“ดิฉันจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และต้องการเห็นสถาบันคงอยู่อย่างมั่นคงและสง่างาม ในอดีตที่ผ่านมามีการแก้ไขรัฐธรรมนูญหมวด1และหมวด2อยู่หลายครั้ง ซึ่งนี่เป็นเรื่องปกติและสามารถแก้ไขได้ตราบเท่าที่ไม่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และไม่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ ตามมาตรา 255” นางสาวสุทธวรรณ กล่าว
นางสาวสุทธวรรณ กล่าวต่อว่า มาตรา 255 หมวดการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ได้มีการกำหนดไว้อย่างชัดเจนอยู่แล้ว ซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างมีการเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา ต้องมีการปรับให้สอดคล้องกับยุคสมัย และในปัจจุบันมีนักเรียน นิสิต นักศึกษา ประชาชนออกมาแสดงความคิดเห็นเรื่องนี้กันมากมาย แต่แค่พวกเขาพูดก็ถูกกล่าวหาว่าคิดร้าย มีการจับกุมดำเนินคดีมากมาย ซึ่งความจริงแล้วบางคนพูดด้วยความหวังดีต่อประเทศ แต่ก็ถูกดำเนินคดี ซึ่งข้อเรียกร้องของนักศึกษาไม่ได้รับการตอบสนอง ดังนั้นตอนนี้พวกเขาขาดความเชื่อมั่นในกระบวนการรัฐสภา จึงต้องออกไปอยู่บนท้องถนน ดังนั้นตนจึงต้องการตั้งคำถามว่าทำไมทางกรรมาธิการไม่ใช้โอกาสนี้พิจารณาเรื่องหมวด1และหมวด2 ซึ่งพวกเราเป็นสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากประชาชน ก็ควรที่จะต้องรับฟังเสียงของประชาชนทุกกลุ่ม เพื่อหาแนวทางร่วมกัน อะไรทำได้หรือทำไม่ได้ ก็ควรที่จะได้มีการพูดคุยชี้แจง แต่ก็สงสัยว่าทำไมถึงต้องข้ามเรื่องนี้ไป เพราะเราสามารถพิจารณาได้ด้วยความละเอียดรอบคอบ มีเหตุผล มีวุฒิภาวะ ตั้งอยู่บนหลักการและความถูกต้อง
นางสาวสุทธวรรณ ยังกล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญในอดีตที่ผ่านมา ว่า มีการแก้ไขหมวด1และหมวด2หลายครั้ง ยกตัวอย่างเช่น รัฐธรรมนูญปี 2492 ที่มีการเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับองคมนตรี และรัฐธรรมนูญ 2534 มีการแก้ไขกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ จากที่ต้องให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบเปลี่ยนเป็นให้รัฐสภารับทราบ และล่าสุดรัฐธรรมนูญปี 2560 ก็แก้ไขหมวดพระมหากษัตริย์มาแล้ว และนั่นเป็นการแก้ไขหลังจากการทำประชามติ
“ก็มาจากพระองค์ท่าน ที่มีประราชการแสรับสั่ง ว่าให้แก้ไขรัฐธรรมนูญหมวด2 อย่างเช่น เรื่องผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ที่จะทรงแต่งตั้งหรือไม่ก็ได้ ซึ่งในการแก้ไขครั้งนั้น ก็ได้มีการนำรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวมาแก้ไข เพื่อนำร่างที่ทูลกล่าวถวายไปแล้ว นำมาแก้ไขและถวายขึ้นไปใหม่ ซึ่งจากการที่ยกตัวอย่างมานี้จะเห็นได้ว่าหมวด1และหมวด2แก้ไขได้เป็นเรื่องปกติ” นางสาวสุทธวรรณ กล่าว
และอย่างที่ผ่านมาที่ สสร.ปี 2539 ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 ก็ไม่ได้ตีกรอบว่าห้ามแก้ไขหมวดใดแต่อย่างใด ดังนั้นตนก็ไม่เห็นว่าจะเกิดปัญหาอะไรขึ้น จึงมีคำถามว่าหากต่อไปต้องการแก้ไขหมวด1และหมวด2 แต่มีการล็อคไว้จะต้องทำอย่างไร ซึ่งคิดว่านี่เป็นการสร้างเงื่อนไขโดยไม่จำเป็น และตนต้องย้ำอีกครั้งว่าการแก้ไขหมวด1และหมวด2 ไม่ใช่การล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงอะไรทั้งสิ้น นี่เป็นเรื่องปกติที่ควรคุยกันได้ในสภาผู้แทนราษฎร และหากในอนาคตถ้ามีการตั้ง สสร.แล้วไปจำกัดการแก้ไข ตนคิดว่านี่ยิ่งเป็นทางตัน และคิดว่าเป็นการดีด้วยซ้ำที่จะเปิดโอกาสให้ สสร.ได้พิจารณาทุกเรื่อง ขึ้นอยู่กับ สสร.ที่มาจากประชาชนและต้องรับฟังข้อเสนอของทุกฝ่ายทุกกลุ่ม ไม่ปิดกั้นใคร รับข้อเสนอทุกอย่างมาก่อน แล้วมาพิจารณาด้วยเหตุด้วยผล ว่าอะไรทำได้หรืออะไรทำไม่ได้ ซึ่งสุดท้ายแล้วเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินเองผ่านกลไกของ สสร.และการลงประชามติ
“สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันหลักอันเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยทั้งชาติ ดิฉันจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงค์ทุกพระองค์ ดิฉันต้องย้ำตรงนี้และต้องการเห็นสถาบันคงอยู่อย่างสง่างาม มั่นคง สมพระเกียรติ สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันของคนไทยทั้งประเทศ ไม่ใช่ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่จะผูกขาดความจงรักภักดี และป้ายสีให้คนที่เห็นต่างเป็นพวกทำลายชาติ การพูดคุยเรื่องนี้กันอย่างมีเหตุผลมีวุฒิภาวะเป็นการคลี่คลายสถานการณ์การชุมนุมในปัจจุบันที่นิสิตนักศึกษา ประชาชนออกมายื่นข้อเรียกร้องต่างๆมากมายนอกสภา ดิฉันคิดว่านี่เป็นหนทางในการรักษาไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญและอยู่เหนือการเมือง” นางสาวสุทธวรรณ กล่าวทิ้งท้าย