“ศรีสุวรรณ” เตือนผู้พูด “เมื่อกระบวนการยุติธรรมล่มสลาย การต่อต้านจึงเป็นหน้าที่” ระวังคุก 7 ปี

Highlight, การเมือง
5 กันยายน 2020

นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า ตามที่มีแกนนำกลุ่มการเมือง ขวัญใจน้องฟ้า และแกนนำอีกหลายๆคน ได้นำบทสนทนาบริเวณหน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯมาโพสต์ลงในเฟสบุ๊กส่วนตัว ซึ่งมีหลายข้อความที่สุ่มเสี่ยงต่อการผิดกฎหมาย เช่น “สู้เป็นไทย ถอยเป็นทาส” และ “เมื่อกระบวนการยุติธรรมล่มสลาย การต่อต้านจึงเป็นหน้าที่” โดยเชื่อว่าการเผยแพร่บทสนทนาดังกล่าวน่าจะมีเจตนาที่จะให้สาวกที่ติดตามหน้าเฟสของตนได้รับรู้ความคิดและการกระทำเพื่อนำไปสู่การปลุกเร้าให้สาวกลุกขึ้นสู้กับรัฐ โดยอ้างเพื่อปกป้องสิทธิและเสรีภาพของพวกตนนั้น

คำพูดดังกล่าวบางคำพูด แม้ไม่ใช่คำพูดที่คิดขึ้นมาใหม่ แต่เป็นวาทกรรมที่ดัดแปลงมาจากคำพูดของอดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนที่ 3 คือ Thomas Jefferson ที่เคยกล่าวไว้ว่า “When injustice becomes law, resistance becomes duty.” ในยุคที่อเมริกายังแบ่งแยกกันเป็นสหพันธรัฐอยู่ เพื่อตอกย้ำให้พลเมืองได้เข้าใจร่วมกัน จนบางคำพูดของเจฟเฟอสันกลายเป็นปรัชญาไปแล้วที่ว่า “รัฐบาลแห่งชาติเป็นสถาบันที่จำเป็นจะต้องมีเป็นอย่างยิ่งเพื่อเป็นองค์กรในการรักษาผลประโยชน์ร่วมกัน, พิทักษ์ และ รักษาความปลอดภัยให้แก่พลเมือง, ชาติ และประชาชน”

แต่การนำวาทกรรมเหล่านั้นมาดัดแปลง พร้อมเสริมข้อความในทางปลุกเร้า ปลุกระดม โดยมีเป้าหมายและเล็งเห็นผลโดยชัดแจ้งว่า เพื่อให้สาวกที่บรรลุและที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะหรือประชาชน ได้ล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจหรือใช้กำลังประทุษร้าย ไม่ว่าจะเป็นข้อใดข้อหนึ่ง การกระทำนั้นย่อมเข้าข่ายความผิดตาม ป.อ. มาตรา 116 ซึ่งต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี

นอกจากนั้น คำพูดดังกล่าวอาจเข้าข่ายการ “หมิ่นศาล” ตาม ป.อ. มาตรา 198 ที่บัญญัติว่า “ผู้ใดดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในการพิจารณาหรือพิพากษาคดี หรือกระทำการขัดขวางการพิจารณาหรือพิพากษาของศาล ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 – 7 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2 หมื่นบาทถึง1.4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” และยังอาจเข้าข่ายความผิดตาม พรบ.คอมพิวเตอร์ ฉบับที่ 2 พ.ศ.2560 ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับอีกด้วย

“การใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น สามารถทำได้ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ม.34 บัญญัติ แต่ถ้ากระทำไปแล้วเป็นการขัดต่อความมั่นคง ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนอันเป็นข้อยกเว้นของรัฐธรรมนูญ เจ้าหน้าที่ตำรวจในฐานะผู้บังคับใช้กฎหมาย ก็สามารถที่จะจับกุมแกนนำคนดังกล่าวมาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรมได้ เพราะประเทศยังต้องใช้ระบบนิติรัฐเพื่อกำราบคนพาล อภิบาลคนดีไว้ แต่ถ้าอยากจะจบก็ให้มันจบที่เรือนจำ ดังที่แกนนำหลายคนกำลังเดินเข้าแถวเข้าไปพำนักอยู่ในขณะนี้” นายศรีสุวรรณ กล่าว

บทความที่เกี่ยวข้อง