“มนัญญา” ยืนยันแบนสารเคมีเกษตรอันตราย เดินหน้าปรับเปลี่ยนทำเกษตรอินทรีย์ เตรียมเสนอแบน “ไกลโฟเซต”

การศึกษา, การเมือง, กีฬา, ท่องเที่ยว, บันเทิง, สังคม, อาชญากรรม
30 มิถุนายน 2020

นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงกรณีที่กลุ่มเกษตรกรร้องต่อศาลปกครอง โดยระบุว่าได้รับความเดือดร้อนจากการยกเลิกใช้พาราควอต ซึ่งเป็นสารป้องกันกำจัดวัชพืชและคลอร์ไพริฟอสซึ่งเป็นสารป้องกันกำจัดแมลง โดยยืนยันว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทำเพื่อความปลอดภัยของเกษตรกร โดยจะส่งเสริมการปรับเปลี่ยนให้ทำเกษตรอินทรีย์ ซึ่งไม่ใช้สารเคมีทางการเกษตรเลย รวมทั้งทำเพื่อสุขภาพของคนไทยทุกคนด้วย นอกจากนี้ ยังเตรียมเสนอไกลโฟเซตสารป้องกันกำจัดวัชพืชอีกชนิด ที่ผ่านมาอยู่ในมาตรการจำกัดการใช้ซึ่งใช้ได้กับพืชเศรษฐกิจ 6 ชนิด คือ อ้อย ยางพารา ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง ข้าวโพด และไม้ผล แต่จากการตรวจสอบพบว่า เกษตรกรที่มาอบรมการใช้สารเคมีดังกล่าวนำไปใช้ในแปลงปลูกพืชอื่นโดยเฉพาะผัก จึงจะต้องแบนไกลโฟเซตให้ได้ด้วย

สำหรับการทำประชาพิจารณ์ (ร่าง) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่…) พ.ศ….ออกตามความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2563 เรื่อง อาหารที่มีสารพิษตกค้าง (ฉบับที่ 3) ซึ่งดำเนินการโดยสำนักงานอาหารและยา (อย.) มีสาระสำคัญเกี่ยวกับการแสดงความเห็นด้วยเรื่องการเพิ่มรายชื่อวัตถุอันตรายทางการเกษตร 2 ชนิดคือ พาราคอวตและคลอร์ไพรอฟอสแนบท้ายประกาศกระทรวงสาธารณสุขหรือไม่ หากไม่เห็นด้วยเพราะเหตุใด รวมทั้งการยกเลิกปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุด (MRLs) ของ 2 สารนี้ นั่นคือ การให้ค่าตกค้างของสารพิษดังกล่าวในอาหารเป็นศูนย์ (Zero Terroance)  ทังนี้ต้องการให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้แก่ หน่วยงานภาครัฐ ผู้นำเข้าผลิตผลทางการเกษตรเพื่อใช้เป็นอาหาร ผู้นำเข้า/ผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป เป็นต้น ร่วมกันแสดงความเห็นต่อ โดยส่งแบบฟอร์มสำหรับรับฟังการแสดงความคิดเห็นได้ที่ อย. ภายในวันที่ 18 กรกฎาคม จากนั้นจึงจะออกประกาศเพื่อบังคับใช้ต่อไป ยืนยันว่า เป็นการออกประกาศที่มุ่งเน้นความปลอดภัยทางสุขอนามัยของผู้บริโภคเป็นสำคัญ

นางสาวอิงอร ปัญญากิจ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่และสารวัตรเกษตรเร่งให้คำแนะนำเกษตรกรเพื่อนำพาราควอตและคลอร์ไพริฟอส ซึ่งอยู่ในครอบครองคืนที่ร้านจำหน่าย ตามคำสั่งกรมวิชาการเกษตร ภายใน 90 หลังจากประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมที่แบนสาร 2 ชนิดนี้มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา ทั้งนี้ยืนยันว่ากรมวิชาการเกษตรไม่มีนโยบายจะจับกุมเกษตรกร แต่จำเป็นต้องแนะนำให้ปฏิบัติตามกรอบเวลาที่กฎหมายกำหนด จากนั้นร้านจำหน่ายต้องส่งคืนผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า และแจ้งปริมาณต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ภายใน 180 วัน หรือก่อนวันที่ 28 กันยายน 2563 สำหรับผู้ผลิตและผู้นำเข้าต้องแจ้งปริมาณต่อพนักงานเจ้าหน้าที่สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร เพื่อรวบรวมแจ้งปริมาณวัตถุอันตรายและแผนการทำลาย ภายใน 270 วัน หรือก่อนวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564

บทความที่เกี่ยวข้อง