นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาหลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 พร้อมคณะ ส่งมอบรายงานผลการศึกษาต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยรายงานการศึกษาของกรรมาธิการแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนแรก เป็นรายงานเฉพาะของคณะกรรมาธิการชุดใหญ่ ส่วนที่ 2 เป็นรายงานของคณะอนุกรรมาธิการ 2 คณะ และส่วนที่ 3 เป็นการสรุปย่อความคิดเห็นของประชาชน รวมถึงนักศึกษา
โดยนายพีระพันธุ์ เปิดเผยว่า รายงานของคณะกรรมาธิการฯ เป็นการศึกษาเชิงวิชาการ ที่ได้รวบรวมความคิดเห็นทั้ง 2 ด้าน เพื่อเป็นข้อมูลให้กับผู้ที่จะร่างนำไปศึกษา ส่วนผู้ที่จะร่างรัฐธรรมนูญใหม่จะนำข้อมูลผลการศึกษาไปพิจารณาประกอบหรือไม่นั้น ไม่สามารถตอบได้ เพราะไม่มีบทบังคับ แต่หากนำข้อมูลไปศึกษาก็จะได้ข้อมูลที่เป็นกลาง เพราะในรายงานมีเหตุผลไว้ทั้งหมดแล้ว ส่วนโครงสร้าง ส.ส.ร. ในกรรมาธิการไม่ได้มีการศึกษา แต่ได้แนบรายละเอียดของโครงสร้างที่เสนอทั้งจากภาคส่วนต่างๆ
ขณะที่นายไพบูลย์ กล่าวว่า รายงานฉบับนี้มีการศึกษาอย่างละเอียด ซึ่งหวังว่า ส.ส.ร. ที่จะเกิดขึ้นจะนำผลการศึกษาในรายงานนี้มาพิจารณา อย่างไรก็ตาม มีบางประเด็นในรายงานฉบับนี้ซึ่งหากผ่านการพิจารณาจากที่ประชุมสภาฯ แล้วก็สามารถนำมาดำเนินการต่อได้ทันที
ด้าน นายชวน กล่าวว่า วาระการประชุมสภาฯ ในวันที่ 9 ก.ย. นี้ จะเป็นการอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 ซึ่งรายงานผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการชุดนี้จะนำเข้าบรรจุในวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 10 ก.ย. นี้ ส่วนการพิจารณาจะเป็นไปตามลำดับวาระการประชุม แต่หากสมาชิกเห็นว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนและต้องการนำขึ้นมาพิจารณาก่อนก็สามารถเสนอในที่ประชุมสภาฯ เพื่อขอมติเลื่อนวาระนี้ขึ้นมาพิจารณาก่อนได้ อย่างไรก็ตาม หากการพิจารณาในวันดังกล่าวไม่แล้วเสร็จก็สามารถเพิ่มวันการประชุมสภาฯ ในวันที่ 11 ก.ย. นี้ เพื่อพิจารณาวาระนี้ต่อได้ ซึ่งคาดว่าจะมีผู้อภิปรายในวาระนี้เป็นจำนวนมาก
นอกจากนี้นายโภคิน พลกุล กล่าวว่า หลังจากที่ ส.ส.ร.เดินหน้ายกร่าง รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รัฐสภายังมีช่วงเวลาที่จะปรับปรุงแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เกิดความเหมาะสมสมบูรณ์ต่อไป โดยขอให้ทุกฝ่ายเข้าใจและเดินตามโรดแมปนี้ด้วยกัน
ส่วนข้อเรียกร้องปิดสวิซ ส.ว. นายโภคินกล่าวว่าเป็นความเห็นที่หลากหลาย ส่วนจะทำได้หรือไม่อยู่ที่ระยะเวลาและความเห็นพ้องต้องกันของสังคม และเห็นว่าควรดำเนินการทีละประเด็น พร้อมย้ำจุดยืนว่าการมี ส.ส.ร.ที่มาจากประชาชน และมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ให้ประชาชนตัดสินและเขียนกติกาใหม่ น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดของสังคม หลังเกิดความแตกแยกและปัญหาการเมืองมานานกว่า 15 ปี และจบด้วยรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน เพราะอยากเห็นการเดินหน้าด้วยสันติวิธี… ก่อนจะย้ำว่าหากท้ายที่สุด ส.ส.ร. ร่างรัฐธรรมนูญออกมาอย่างไรทุกคนจะต้องยอมรับ แม้ว่าจะมีเนื้อหาเหมือนกับรัฐธรรมนูญปี 2560 หรือปี 2540
นายนิกร จำนง กรรมาธิการ พรรคชาติไทยพัฒนา เชื่อว่าจำแก้ไขรัฐธรรมนูญได้สำเร็จตาม นโยบายที่รัฐบาลได้ประกาศไว้ และเชื่อว่า คณะกรรมาธิการศึกษาปัญหาหลักเกณฑ์และแนวทางการแก้ไขและธรรมนูญเป็นคีย์แมนคนสำคัญที่นำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญได้สำเร็จ
ส่วนนายไพบูลย์ นิติตะวัน ประธานคณะอนุฯวิเคราะห์ศึกษาบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่ามีการศึกษาหมวด 15 เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และวิธีตั้ง ส.ส.ร. และมีรายงานร่างแก้ไขเพิ่มรัฐธรรมนูญ 2560 ที่เสนอโดยกรรมาธิการบางคน และมีผลศึกษาเกี่ยวกับกฎหมายการเลือกตั้งทั้ง 4 ฉบับ ยอมรับมีประเด็นแก้ไขจำนวนมากและจะมีการดำเนินการเรื่องนี้หลังรายงานต่อสภาผู้แทนราษฎรแล้วเสร็จ ซึ่งรายงานผลการศึกษาจะเผยแพร่ในเว็บไซต์ของกรรมาธิการในวันนี้ และหวังว่า ส.ส.ร.ที่จะเกิดขึ้นจะนำรายงานผลการศึกษาไปใช้ประโยชน์
ขณะที่นายวัฒนา เมืองสุข กรรมาธิการในส่วนพรรคเพื่อไทยกล่าวว่า จากการฟังเสียงประชาชน พบว่าประชาชนต้องการมีรัฐธรรมนูญของประชาชน เชื่อมั่นว่าการร่างรัฐธรรมนูญใหม่มีโอกาสประสบความสำเร็จสูง เพราะทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกัน คาดว่าหากทุกอย่างเป็นไปตาขั้นตอนในสิ้นปี 2564 จะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ขอให้ทุกคนทุกฝ่ายประคับประคองสถานการณ์ของประเทศ ให้เดินไปข้างหน้าเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปตามครรลอง เพื่อวางรากฐานสำคัญในระบอบประชาธิปไตย