น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ อดีตผู้สมัคร ส.ส. กทม. จอมทอง-ธนบุรี และอดีตรองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงกรณีนายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณ 2564 กล่าวว่า “เชื่อว่ามีการเดินสายล็อบบี้ในกรรมาธิการจริง หลังนายกรัฐมนตรี ส่งสัญญาณมีความจำเป็นต้องซื้อเรือดำน้ำ” ว่าเป็นการให้ความเห็นที่ฝ่าฝืนข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและกรรมาธิการ พ.ศ. 2563 ข้อ 11 ที่ให้ยึดมั่นหลักการในการปฏิบัติหน้าที่โดยปราศจากอคติใดๆ เพราะการกล่าวหาว่ามีการล็อบบี้โดยใช้เพียง “ความเชื่อ” ของผู้พูดโดยไม่มีพยานหลักฐานที่ชัดเจน ถือว่ามีอคติ เป็นการคุกคามเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและลงมติของกรรมาธิการท่านอื่นๆ เหมือนเป็นการตีปลาหน้าไซว่า กรรมาธิการที่โหวตให้ความเห็นชอบอาจเกิดจากการ “ล็อบบี้” ทั้งๆที่ท่านเหล่านั้นพิจารณาตามหลัก กมธ. ดังนั้นนักการเมืองจะใช้เพียงความเชื่อหรือจิตสัมผัสใดๆ กล่าวหาผู้อื่นลอยๆ ไม่ได้ ควรหยุดผลิตซ้ำภาพจำแก่สังคม ว่าพรรคก้าวไกลมักกล่าวหาผู้อื่นลอยๆ โดยไร้ซึ่งพยานหลักฐาน
“การให้ข่าวของพรรคก้าวไกลว่า ไม่นำประเด็นเรื่องเรือดำน้ำมาเป็นประเด็นทางการเมือง นั้นก็ย้อนแย้งกับการกระทำ ทั้งที่ไม่จำเป็นต้องออกมาให้ข่าวโหนกระแสใหญ่โต พร้อมๆให้ติดตามท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์” น.ส ทิพานัน กล่าว
น.ส ทิพานัน กล่าวว่า ในอำนาจของ กมธ. ชุดนี้ ก็มีหน้าที่พิจารณางบประมาณตามความจำเป็นของแต่ละหน่วยงาน หากเห็นว่าไม่จำเป็นก็ต้องตัดงบส่วนนี้ไป ไม่มีอำนาจโยกงบของหน่วยงานหนึ่งไปยังหน่วยงานหนึ่งได้ และที่สำคัญในปีงบประมาณ 2564 การจ่ายเงินค่าจัดซื้อเรือดำน้ำมีจำนวนประมาณ 3 พันกว่าล้านบาท เป็นการแบ่งชำระ ไม่ได้มีการจ่ายก้อนใหญ่ถึง 22,500 ล้านบาทตามที่มีการปั่นกระแสเพื่อโจมตี
การชะลอการชำระเงินนั้น ทางกองทัพเรือได้เคยเจรจาทำไปแล้วเมื่อปีก่อน มีการนำเงิน 3,375 ล้านบาทส่งคืนให้รัฐเพื่อช่วยเหลือแก้ไขปัญหาโควิดในปีงบประมาณ 2563 แล้ว จากการรับฟังคำชี้แจงจากกองทัพเรือเรื่องการจัดซื้อเรือดำน้ำนั้น มีความจำเป็นอย่างยิ่ง เป็นความจำเป็นในการรักษาอำนาจอธิปไตยของประเทศไทยและผลประโยชน์ของชาติทางทะเล เรือดำน้ำมีความโดดเด่นในหน้าที่การ “ป้องปราม” เพื่อให้ไม่เกิดปัญหาภัยคุกคาม ซึ่งแตกต่างจากหน้าที่ปราบปรามของเรือรบที่จะกระทำหลังจากเกิดภัยขึ้นแล้ว
เรือดำน้ำมีฟังก์ชันสำคัญในป้องกันไม่ให้เกิดภัยคุกคามทางทะเลขึ้น เช่น ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ การลักลอบขนยาเสพติด ค้ามนุษย์ อาวุธเถื่อน โดยที่การมีอยู่ก็แสดงถึงแสนยานุภาพแล้ว เรือดำน้ำจะไม่มีใครมองเห็นว่าเรืออยู่ที่ไหนจึงสามารถสร้างความไม่มั่นใจกับผู้ต้องการคุกคามและยับยั้งภัยได้ ทุกคราวที่เรือดำน้ำไม่อยู่ที่ฐาน ศัตรูก็จะไม่รู้ว่ามันไปอยู่ที่ไหน ก็จะเกิดความกลัว ไม่กล้าคุกคามหรือเสี่ยงกระทำความผิด เรือดำน้ำจึงมีประสิทธิภาพในการป้องปรามการกระทำความผิด
“สำหรับเหตุผลที่ว่าประเทศเพื่อนบ้านเรามี เราก็ต้องมีนั้น “ไม่ได้หมายความว่าเราอยากมีอยากได้” แต่มันหมายถึงว่าประเทศเพื่อนบ้านข้างเคียงมีแสนยานุภาพทางทะเลเพิ่มมากขึ้นในขณะที่เราย่ำอยู่เท่าเดิม เป็นการเพิ่มช่องว่างความเสี่ยงในการถูกคุกคามทางทะเลให้เพิ่มมากขึ้น เหมือนเราอยู่กับที่ไม่เดินหน้า คนอื่นก็แซงหน้าเราไปได้ อำนาจต่อรองของประเทศไทยก็ลดน้อยลงทันที ความจำเป็นต้องจัดซื้อเรือดำน้ำลำที่ 2 เพราะประเทศไทยมี 2 ฝั่งพื้นที่ทะเล คือ ฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน แต่ละฝั่งต้องมีอย่างน้อย 1 ลำ เพราะไม่สามารถนำเรือดำน้ำมุดทะลุแผ่นดินข้ามฝั่งไปมาระหว่างอ่าวไทยและทะเลอันดามันได้” น.ส. ทิพานัน กล่าว