26 สิงหาคม 2563 ที่กระทรวงสาธารณสุข ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้หารือกับ นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ และศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผอ.บริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงความคืบหน้าเรื่องการผลิตและจัดหาวัคซีนโควิด-19
หลังการหารือ นายอนุทิน กล่าวว่า ทางกระทรวงสาธารณสุขให้คำยืนยันในการสนับสนุนการค้นคว้าวิจัยของทีมวัคซีน จุฬาฯ และทีมวัคซีนอื่นๆ ของไทยอย่างเต็มที่ เพื่อให้เกิดความสำเร็จโดยเร็ว
ทั้งนี้ ได้จัดสรรงบให้ทีมจุฬาฯ ประมาณ 400 ล้านบาท และจะนำไปร่วมลงทุนกับมหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ด ประมาณ 600 ล้านบาท ตอนนี้ เดินหน้าเจรจาไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม ถ้าในกระบวนการค้นคว้า วิจัย จัดหา เกิดอุปสรรค ต้องใช้งบประมาณเพิ่ม รัฐบาล ก็พร้อมจะช่วยเหลืออย่างสุดความสามารถ ขอให้คนทำงาน ทำงานต่อไป ไม่ต้องกังวล
ด้าน ศ.นพ.เกียรติ กล่าวว่า ขอบคุณรัฐบาลไทย กระทรวงสาธารณสุข สถาบันวัคซีนแห่งชาติ และทุกฝ่าย ที่ให้การสนับสนุนการทำงานของทีมวัคซีนจุฬาฯ การผลิตวัคซีนของไทย ต้องดูจากความสำเร็จของทีมอื่นๆ ทั่วโลก ปัจจุบัน มีวัคซีน 7 ตัว ที่เข้าสู่การทดลองระยะที่ 3 แล้ว และมีวัคซีนอีก 42 ตัวที่ทดลองในมนุษย์แล้ว
คาดว่า จะมีวัคซีน 1 ตัวที่เข้าเส้นชัย ในต้นปีหน้า ซึ่งจะทำให้ทางไทยทราบว่ามาตรฐานของวัคซีนที่ถูกต้องอยู่ตรงไหน ฉีดไปแล้วภูมิต้านทาน ต้องขึ้นมาเท่าไร จึงจะเหมาะสม สามารถเอาวัคซีนของไทยไปเทียบได้
วัคซีนของจุฬาฯ ตอนแรกจะทดลองกับคนในเดือนตุลาคม 2563 แต่ขอเลื่อนออกไปก่อน เพราะโรงงานผลิตวัคซีนที่ต่างประเทศ มีคิวจองแน่นมาก อย่างไรก็ตาม ของไทย จะได้วัคซีน ตัวทดลอง ไม่เกินปลายปีนี้
และกว่าจะได้ทดลองกับคน มีหลายขั้นตอนที่ต้องคำนึงถึง ทั้งเรื่องการอนุญาตจาก อย., การพิจารณาจากคณะกรรมการด้านศิลธรรม , ต้องเตรียมคน เตรียมห้อง การทดสอบกับคน ต้องอยู่บนพื้นฐานของความปลอดภัยสูงที่สุด เวลาทดลองต้อง เริ่มจากคนอายุน้อย ไปอายุมาก ต้องหาปริมาณการใช้ที่เหมาะสม
และหากทดลองกับคนประสบความสำเร็จ เราสามารถผลิตได้เลย ไม่ต้องไปจองคิวผลิตกับโรงงานต่างประเทศแล้ว ซึ่งคาดว่า หากโลกมีวัคซีนในต้นปี 2564 ของไทย ก็น่าจะผลิตได้ในไตรมาส 3-4 ของปีนั้น