สคฝ.เผยสถิติผู้ฝาก 6 เดือนแรก รวม 80.82 ล้านราย เพิ่มขึ้น 1.38% ราว 1.1 ล้านราย จำนวนเงินฝากที่ได้รับความคุ้มครอง 14.67 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.12% เมื่อเทียบกับข้อมูล ณ สิ้นปี 62 โดยกว่า 98% เป็นผู้ฝากรายย่อย มีเงินฝากไม่เกิน 1 ลบ.

Highlight, สังคม
25 สิงหาคม 2020

นายทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) หรือ DPA กล่าวผ่านเอกสารเผยแพร่ ว่า จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของทุกคนทั่วทุกมุมโลก โดย สคฝ. มีบทบาทสำคัญในการคุ้มครองเงินฝากแก่ผู้ฝาก ทั้งที่เป็นบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่ฝากเงินเป็นสกุลเงินบาทกับสถาบันการเงินภายใต้กฎหมาย ว่าด้วยสถาบันคุ้มครองเงินฝากทั้ง 35 แห่ง ซึ่งจะคุ้มครองทันทีในลักษณะ 1 รายชื่อผู้ฝากต่อ 1 สถาบันการเงิน ในบัญชีเงินฝาก 5 ประเภท

ได้แก่ 1. เงินฝากกระแสรายวัน 2. เงินฝากออมทรัพย์ 3. เงินฝากประจำ 4. บัตรเงินฝาก และ 5. ใบรับฝากเงิน อย่างไรก็ตาม ในกรณีสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้การคุ้มครองถูกเพิกถอนใบอนุญาต ผู้ฝากจะได้รับเงินฝากคืนภายใน 30 วัน ตามวงเงินที่กฎหมายกำหนด โดยปัจจุบันวงเงินคุ้มครองเงินฝากอยู่ที่ 5 ล้านบาท ทั้งนี้ วงเงินคุ้มครองดังกล่าว สามารถครอบคลุมการคุ้มครองเงินฝากเต็มจำนวนของผู้ฝาก 80.51 ล้านราย หรือคิดเป็น 99.63% ของผู้ฝากทั้งระบบ สำหรับเงินฝากที่เกินวงเงินการคุ้มครอง ผู้ฝากมีโอกาสได้รับเงินฝากคืนเพิ่มเติม จากการชำระบัญชีสถาบันการเงินที่ถูกปิดกิจการในภายหลัง

จากข้อมูลสถิติการฝากเงินในสถาบันการเงิน ภายใต้กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเงินฝากย้อนหลัง 3 ปี พบแนวโน้มจำนวนเงินฝากที่ได้รับความคุ้มครองของระบบสถาบันการเงินเป็นไปในทิศทางที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยระหว่างปี 2560 – 2562 มีเงินฝากที่ได้รับความคุ้มครอง จำนวน 12.54 ล้านล้านบาท 13.02 ล้านล้านบาท และ 13.56 ล้านล้านบาท ตามลำดับ

จากข้อมูลในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2563 ระหว่างเดือนมกราคม – มิถุนายน พบว่า ประเทศไทย มีจำนวนผู้ฝากในระบบสถาบันการเงินภายใต้ความคุ้มครองของ สคฝ. รวม 80.82 ล้านราย โดยเพิ่มขึ้น 1.38% หรือราว 1.1 ล้านราย และมีจำนวนเงินฝากที่ได้รับความคุ้มครองมีจำนวนทั้งสิ้น 14.67 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.12% เมื่อเทียบกับข้อมูลเมื่อสิ้นปี 2562 โดยกว่า 98% เป็นผู้ฝากรายย่อยที่มีเงินฝากไม่เกิน 1 ล้านบาท

จากข้อมูลพบว่า ปัจจุบันปริมาณเงินฝากมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นในกลุ่มผู้ฝากเกือบทุกกลุ่ม โดยปริมาณเงินฝากเพิ่มขึ้นสูงสุดในกลุ่ม “ผู้ฝากบุคคลธรรมดา” และ “ผู้ฝากภาคธุรกิจ องค์กรภาครัฐ และกองทุนต่าง ๆ” อีกทั้งมีการขยายตัวในทุกระดับวงเงินฝาก โดยเกือบครึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นของเงินฝากในระดับเงินฝากวงเงินสูงกว่า 25 ล้านบาท อย่างไรก็ดี จากปริมาณเงินฝากที่ขยายตัวในอัตราสูง เป็นผลมาจากความผันผวนในตลาดการเงิน ทำให้นักลงทุนโยกย้ายเงินลงทุนมาเข้าเงินฝากมากขึ้นเพื่อความปลอดภัย เนื่องจากเงินฝากมีความปลอดภัยสูง เมื่อเทียบกับการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอื่นในตลาดเงินที่ผลตอบแทนลดลง และยังมีแนวโน้มการออมเพื่อสำรองการใช้จ่ายในอนาคต

อย่างไรก็ดี จากข้อมูลผลตอบแทนตามประเภทสินทรัพย์เฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปี ระหว่าง 2553 – 2562 พบว่า ผลตอบแทนการฝากเงินประเภทออมทรัพย์อยู่ที่ร้อยละ 0.72 ประเภทฝากประจำ 1 ปีอยู่ที่ 1.88% ประเภทพันธบัตร 3 ปีอยู่ที่ 2.41% ทองคำอยู่ที่ 2.31% JUMBO25 (หุ้น) อยู่ที่ 10.01%

ทั้งนี้ แม้ว่าการฝากเงินยังเป็นช่องทางที่มั่นคงและมีความปลอดภัยสูง แต่ผู้ฝากยังสามารถพิจารณาการจัดสรรสินทรัพย์ (Asset Allocation) ตามความเหมาะสมและความต้องการของตนเอง โดยต้องพิจารณาและศึกษาการจัดสรรสินทรัพย์อย่างละเอียด เพื่อความปลอดภัยในการบริหารการเงินอย่างยั่งยืน ขณะนี้ สคฝ. อยู่ระหว่างการศึกษาผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่าง ๆ เพื่อพิจารณาขยายการคุ้มครองในอนาคต นายทรงพล กล่าวทิ้งท้าย

บทความที่เกี่ยวข้อง