รมว.คมนาคม เผยนายกฯ เตรียมเปิดใช้มอเตอร์เวย์ “พัทยา-มาบตาพุด” อย่างเป็นทางการ 24 ส.ค.นี้

Highlight, สังคม
20 สิงหาคม 2020

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า วันจันทร์ที่ 24 สิงหาคมนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตีรว่าการกระทรวงกลาโหม จะเดินทางไปเปิดการใช้งานโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 ส่วนต่อขยายช่วงพัทยา – มาบตาพุด อย่างเป็นทางการ โดยทุกด่านพร้อมเปิดให้บริการ ประกอบด้วย ด่านห้วยใหญ่ ด่านเขาชีโอน และด่านมาบตาพุด เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งและโลจิสติกส์ของภาคอุตสาหกรรม เติมเต็มโครงข่ายคมนาคมขนส่งในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) คาดว่าจะมีปริมาณรถมาใช้บริการไม่ต่ำกว่า 36,000 คันต่อวัน ลดเวลาการเดินทางจากมาบตาพุด – พัทยา ด้วยเวลาน้อยกว่า 30 นาที จึงเป็นถนนที่จะสร้างงาน สร้างรายได้ ทำเงิน ทำทอง ให้กับพี่น้องประชาชน

“โครงการได้ออกแบบงานระบบตามมาตรฐานทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง โดยจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางแบบระบบปิด คิดอัตราค่าผ่านทางตามระยะทางที่ใช้จริง ประกอบด้วย ระบบจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านแบบเงินสด (MTC) และระบบจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางแบบอัตโนมัติ (ETC) ซึ่งในอนาคตสามารถพัฒนาสู่ระบบจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางแบบไม่มีไม้กั้น (M-Flow) ตลอดสายทาง” รมว.คมนาคม กล่าว

นายศักดิ์สยาม กล่าวด้วยว่า กรมทางหลวงกำลังดำเนินการส่วนต่อขยายถึงสนามบินอู่ตะเภา ซึ่งจะมีระยะทางเพิ่มเติมอีกประมาณ 7 กม. เพื่อรองรับผู้โดยสารมาใช้บริการที่สนามบินอู่ตะเภาในอนาคต คาดว่าจะมีผู้โดยสารเพิ่มเป็น 60 ล้านคนต่อปี รวมทั้งเติมเต็มโครงข่าย EEC อีกด้วย นอกจากนี้ วันที่ 25 สิงหาคม 2563 หลังจากการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรจังหวัดระยอง นายกรัฐมนตรี จะเดินทางไปจังหวัดจันทบุรี เพื่อเป็นประธานเปิดการใช้กำแพงคอนกรีตหุ้มด้วยแผ่นยางธรรมชาติ (RFB) และหลักนำทางยางธรรมชาติ (RGP) เป็นครั้งแรกในประเทศไทย ถือเป็นการปักหมุดโครงการนี้ในประเทศไทย

รมว.คมนาคม กล่าวเพิ่มเติมว่า จากความร่วมมือระหว่างกระทรวงคมนาคม โดยกรมทางหลวงชนบท มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ ที่ช่วยกันผลิตคิดค้นตามโครงการนำยางพารามาใช้ในประเทศ จนประสบความสำเร็จผ่านการทดสอบของสถาบัน National Highway Traffic Safety Administration (NHTSA) ประเทศเกาหลีใต้ ในมาตรฐานระดับโลก สำหรับความปลอดภัยด้านการจราจร ถือเป็นความสำเร็จของนโยบาย Thai First ไทยทำ ไทยใช้ คนไทยต้องได้ก่อน ในพิธีจะมีนิทรรศการเสมือนจริงในการสาธิตขั้นตอนต่าง ๆ อย่างละเอียด ตั้งแต่การผสมยาง การขึ้นแบบ การอบ จนถึงการทาสีอุปกรณ์ทั้ง 2 ชนิด พร้อมรับชมการติดตั้งบนถนนจริง ซึ่งจะเห็นได้ว่าใช้เวลารวดเร็วเพียง 1 ช่องทาง ในการทำงานเท่านั้น

ทั้งนี้ ในช่วง 3 ปีแรกจะมีการใช้ยางพาราไม่น้อยกว่า 1.007 ล้านตัน เกษตรกรชาวสวนยางพารา จะมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาท และปีที่ 3 วัสดุยางพาราจะเสื่อมสภาพหมดอายุการใช้งาน ปีต่อไปจึงต้องใช้ยางพารามาผลิตวัสดุยางพาราใหม่หมุนเวียนทุกปี ดังนั้น จึงจะทำให้เป็นการสร้างเสถียรภาพยางพาราอย่างยั่งยืน และเมื่อครบ 3 ปี จะต้องเปลี่ยนเฉพาะ Rubber Fender 1/3 เพราะ Rubber Fender มีอายุใข้งานกลางแจ้ง ได้ครั้งละ 3 ปี ทำให้ต้องมีการสร้าง Rubber Fender ทดแทนทุกปี เริ่มจากปี 2566 เป็นต้นไป ซึ่งจะต้องใช้น้ำยางดิบปีละประมาณ 350,000 ตัน ในการผลิต Rubber Fender สำหรับ Concrete Barriers เมื่อดำเนินการติดตั้งแล้วสามารถใช้เป็นอุปกรณ์ด้านความปลอดภัยทางถนนได้ตลอดไป

นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมยังค้นพบว่าวัสดุที่ทำจากยางพาราแต่ละปีมีการนำไปเผาทิ้งจำนวนมาก เช่นยางรถยนต์ ส่งผลต่อมลภาวะทางอากาศ ก๊าซพิษ และฝุ่นผง จำนวนมาก รวมถึง นำแผ่นยางธรรมชาติหุ้มคอนกรีต (RFB) และหลักนำทางยางธรรมชาติ (RGP) ที่หมดอายุ โดยมีข้อเสนอให้ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่เรียกว่า “การรีไซเคิล ผลิตภัณฑ์จากยางพาราที่ใช้ในการขนส่ง เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ (BCG) มาใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการ เพื่อจะเป็นความรับผิดชอบต่อสังคมอีกด้วย ขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการศึกษารูปแบบ ความเป็นไปได้ที่จะดำเนินการต่อไป

รวมทั้งนายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ได้รายงานให้ทราบว่าปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ราคายางพารา 3 ชนิด ณ วันที่ 13 สิงหาคม 2563 ได้แก่ น้ำยางสด ราคา 43บาท/กิโลกรัม ยางแผ่นดิบ 46.05บาท/กิโลกรัม ยางแผ่นรมควันชั้น3 ราคา 48.70บาท/กิโลกรัม ถือว่าราคายางขยับพุ่งพรวดทุบสถิติในรอบ 8 เดือน โดยมีปัจจัยจากข่าวสารเรื่อง ที่นายกรัฐมนตรี จะไปเป็นประธานในเปิดโครงการคอนกรีตหุ้มด้วยแผ่นยางธรรมชาติและหลักนำทางยางธรรมชาติเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เป็นส่วนประกอบสำคัญ ของราคายางที่จะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องอีกด้วย

บทความที่เกี่ยวข้อง