นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนก.ค.63ที่ผ่านมาว่า ดัชนีฯอยู่ที่ระดับ 82.5 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 80 ในเดือนมิ.ย. โดยปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3
สำหรับปัจจัยบวกสำคัญมาจากการที่รัฐบาลได้ผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ทำให้กิจกรรมต่างๆกลับมาดำเนินการได้มากขึ้น
ส่งผลให้ความต้องการใช้สินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องนุ่งห่ม สินค้าวัสดุก่อสร้าง ขณะเดียวกันผู้ประกอบการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ เช่น งาน Motor Show และโปรโมชั่น Mid Year Sale เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าดัชนีจะเพิ่มขึ้น แต่ยังต่ำกว่าระดับ 100 และยังต่ำกว่าก่อนการระบาดไวรัสโควิด-19 ทั้งนี้ ผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อสภาพคล่องและการเข้าถึงสินเชื่อ รวมทั้งการฟื้นตัวของภาคการส่งออก รวมถึงความเสี่ยงของการกลับมาระบาดรอบ 2 ของไวรัสโควิด-19 ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินกิจการภาคอุตสาหกรรม
ทั้งนี้ จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,211 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมทั่วประเทศในเดือนก.ค. พบว่า ปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่ม คือ สถานการณ์การเมืองในประเทศ 51.8% ราคาน้ำมัน 38% และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 22% ส่วนปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความกังวลลดลง คือ สภาวะเศรษฐกิจโลก 67.9% และอัตราแลกเปลี่ยน 44.3%
สำหรับดัชนีฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 93 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่คาด 90.1 ทั้งนี้ ความเชื่อมั่นปรับตัวดีขึ้นทุกองค์ประกอบการ ซึ่งผู้ประกอบการมองว่าภาคการผลิตเริ่มมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น หากไม่มีการระบาดโควิด-19 รอบสอง จะทำให้ผู้ประกอบการดำเนินกิจการต่อไปได้
อย่างไรก็ตาม ดัชนียังต่ำกว่าระดับ 100 สะท้อนว่าความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในอนาคตยังต่ำกว่าระดับปกติ เนื่องจากยังมีความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งปัญหาความตึงเครียดระหว่างสหรัฐ และจีน
นายสุพันธุ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนข้อเสนอแนะภาครัฐ ส.อ.ท. เสนอให้ภาครัฐขยายระยะเวลามาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการไปจนถึงสิ้นปี 63 เช่น การพักหนี้ ลดเงินนำส่งประกันสังคม เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ นอกจากนี้ ภาครัฐควรเร่งเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการลงทุนของภาครัฐ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ
ส่วนการจัดกิจกรรมชุมนุมทางการเมืองนั้น มองว่า ปัจจุบันกิจกรรมที่ออกมาจะไม่ค่อยรุนแรง เป็นเชิงสัญลักษณ์ และไม่น่าจะเกิดเหตุการณ์ทำลายทรัพย์สิน หรือ ชีวิต แต่รัฐบาลต้องตระหนัก และมันกำลังลุกลามไปทั่วประเทศ และคิดว่า รัฐบาลจะมีมาตรการออกมาและรับฟังความคิดเห็นที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ คงต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิด โดยปัจจุบัน ยังกระทบกับเศรษฐกิจไม่รุนแรง