นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงาน ยังยึดเป้าหมายส่งเสริมให้เกิดการใช้รถยนต์ไฟฟ้า( EV) จำนวน 1.2 ล้านคันภายในปี 2573 ซึ่งที่ผ่านมาได้เตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานทั้งด้านระบบไฟฟ้า สถานีอัดประจุไฟฟ้า และเทคโนโลยีรถ EV รวมถึงยังมีแผนระบบสายส่งไฟฟ้าอัจฉริยะ ระบบมิเตอร์ไฟฟ้าอัจฉริยะ และแผนลดการใช้ไฟฟ้าประชาชนภาคสมัครใจ มั่นใจว่าระบบไฟฟ้าจะมีรองรับรถ EV ในช่วงเปลี่ยนผ่านได้อย่างเพียงพอรองรับได้ถึง 3 ล้านคัน
นอกจากนี้ ยังศึกษากรณีให้ผู้ใช้รถ EV สามารถขายไฟฟ้าส่วนเหลือจากแบตเตอรี่รถ EV เข้าระบบผลิตไฟฟ้าได้ เพื่อให้ระบบแบตเตอรี่รถ EV กลายเป็นระบบสำรองไฟฟ้าช่วยเสริมความมั่นคงไฟฟ้าประเทศ โดยเฉพาะกรณีประเทศเกิดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด(พีค) ขึ้นจะช่วยลดการสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อรองรับพีคได้อีกด้วย โดยจะต้องศึกษาทั้งรูปแบบและกฎระเบียบรองรับแนวทางดังกล่าวต่อไป
นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA เปิดเผยว่า การส่งเสริมใช้รถ EV ควรวางแผนอย่างเป็นระบบ เริ่มด้วยการสร้างความต้องการใช้ให้เกิดขึ้นในประเทศ โดยการลดอุปสรรคด้านราคารถ EV ก่อน ด้วยการกำหนดปริมาณแบตเตอรี่ให้พอเหมาะกับความต้องการใช้ เพื่อให้ราคารถไม่แพงและประชาชนเข้าถึงได้ รวมถึงต้องมีสถานีอัดประจุไฟฟ้าเฉลี่ย 50 กิโลเมตรต่อสถานี หรือ กระจาย 2,000 แห่งทั่วประเทศ
ขณะเดียวกันจะต้องชาร์จด้วยความเร็วประมาณ 15-20 นาที จากนั้นต้องนำร่องให้มีการใช้รถEVในรถสาธารณะ รถแท็กซี่ และรถยนต์ของราชการก่อน เมื่อมีความต้องการใช้จะส่งผลให้เกิดผู้ผลิตรถ EV ผู้ผลิตแบตเตอรี่ และผู้ผลิตชิ้นส่วน EV และส่งผลให้การใช้รถEV ครอบคลุมไปถึงรถ E-bike และรถEV ส่วนบุคคลต่อไป และท้ายที่สุดจะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางรถ EV ในอาเซียนต่อไป