นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า กล่าวในการบรรยายสาธารณะพิเศษ “ชวนสนทนาว่าด้วย ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” ว่า รัฐสมัยใหม่ จะแยกประโยชน์สาธารณะกับเอกชนออกจากกัน หรือแยก Public กับ private ออกจากกัน ต่างจากผู้ปกครองรัฐโบราณ ที่อ้างความชอบธรรมจากพระเจ้า กษัตริย์จึงเป็นสมมติเทพ แต่รัฐสมัยใหม่นั้น ผู้ปกครองต้องมาจากการเลือกตั้งของคนในรัฐ และต้องตรวจสอบได้ ส่วนระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ เกิดจากการต่อสู้กันระหว่างรัฐสภาหรือฝ่ายประชาชนกับระบอบกษัตริย์ เพื่อกำจัดพระราชอำนาจ ให้กษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ และในฐานะประมุขของรัฐนอกจากต้องเคารพรัฐธรรมนูญแล้ว ยังต้องพิทักษ์รัฐธรรมนูญด้วย ดังนั้น การรัฐประหารทุกครั้งแล้วให้พระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธย เป็นการทำลายสถาบัน เพราะเป็นการบีบบังคับประมุขของรัฐ ให้ทำผิดรัฐธรรมนูญ
นอกจากนี้ พระมหากษัตริย์ไม่ใช่เจ้าของประเทศ เพราะประเทศเป็นของประชาชน แต่พระมหากษัตริย์เป็นประมุขของรัฐ จึงต้องมีการแบ่งแยกทรัพย์สินของตำแหน่งซึ่งถือเป็นของรัฐกับบุคคลที่ทรงดำรงสถานะพระมหากษัตริย์ออกจากกัน หรือแยกทรัพย์สินส่วนพระองค์ และทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ออกจากกันตามหลักปกครองของรัฐสมัยใหม่
ทั้งนี้ นายปิยบุตร ยืนยันว่า ไทยมีรูปแบบของรัฐเป็นราชอาณาจักร ส่วนการปกครองเป็นประชาธิปไตย ดังนั้น ประชาธิปไตยจึงเป็นหลัก และขายความให้เห็นรูปแบบรัฐที่เป็นราชอาณาจักรว่า “พระมหากษัตริย์เป็นประมุข” ซึ่งต้องมี เอกสิทธิ์คุ้มครอง สะท้อนผ่านบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญระยะหลังว่า “ผู้ใดจะละเมิดมิได้” และ “จะฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ไม่ได้” ซึ่งไม่ใช่ความเป็นอภิสิทธิ์ชน แต่ทั่วโลกให้เอกสิทธิ์นี้รวมถึงประเทศที่มีประธานาธิบดีเป็นประมุขของรัฐด้วย ส่วนพระมหากษัตริย์ที่สืบทอดโดยสายโลหิตและดำรงสถานะจนสิ้นรัชสมัย
โดยเห็นว่า หลักการ “การจะฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ไม่ได้” นั้น ต้องมีองค์ประกอบครบทั้ง 4 เงื่อนไข คือ
1.พระมหากษัตริย์จะต้องไม่กระทำการใดโดยพระองค์เอง ต้องมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการทุกครั้ง และผู้รับสนองเป็นผู้ใช้อำนาจที่แท้จริงและจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ
2.ไม่มีการแบ่งแยกว่าการกระทำใดเป็นของพระมหากษัตริย์หรือของรัฐบาล แต่ต้องเป็นก้อนเดียวกัน
3.ต้องไม่มีใครรู้ว่าพระมหากษัตริย์คิดหรือดำริอะไร แม้ทรงให้คำปรึกษารัฐบาล ก็ต้องเป็นความลับ และรัฐบาลจะทำตามหรือไม่ก็ได้ ซึ่งรัฐบาลที่จงรักภักดีจะต้องไม่อ้างพระมหากษัตริย์ในการดำเนินการเรื่องใดๆก็ตาม
4.พระราชดำรัสของพระมหากษัตริย์ต้องให้ฝ่ายบริหารหรือรัฐสภารับรู้
นายปิยบุตร ย้ำด้วยว่า การเปิดพื้นที่ให้พูดถึงสถาบันเบื้องสูงด้วยความเคารพและปรารถนาดีเพื่อแสวงหาทางออกร่วมกัน เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นที่จะให้ระบอบปกครองนี้และสภาบันเบื้องสูงมีความมั่นคงถาวร พร้อมเสนอทางออกจากวิกฤตการเมืองห้วงนี้ว่า ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย โดย ส.ส.ร.จากการเลือกตั้งของประชาชน จากนั้นดำเนินการยุบสภาให้มีการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งเป็นทางออกเดียวที่สังคมไทยมีอยู่ หากปราบปรามผู้เห็นต่าง ก็จะหายไปจากประเทศไทยช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น แต่ความคิดก็ยังจะมีอยู่และท้ายที่สุดก็ต้องวนกลับมาที่เดิม แนวทางนี้ จึงไม่เป็นคุณต่อใครทั้งสิ้น แต่เป็นการฆ่าอนาคตของชาติและจะทำให้สังคมไม่มีอนาคตอีกต่อไป