“โรม” ดีดปาก ส.ว.ขู่ นศ.จาบจ้วงไม่นำไปสู่ความปรองดอง ย้ำ ม.112 ถูกใช้เป็นเครื่องมือรังแกคนเห็นต่างทางต้องได้นิรโทษกรรมด้วย

Highlight, การเมือง
14 สิงหาคม 2020

นายรังสิมันต์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ตนต้องการตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมจากรายงานฉบับนี้ให้รายงานฉบับนี้เป็นรายงานที่มีความสมบูรณ์มากขึ้น ประเด็นแรกตนเห็นด้วยที่จะมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน เราต้องยอมรับความจริงว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่บังคับใช้อยู่ ไม่เอื้อการสร้างบรรยากาศแห่งความปรองดองได้และยังมีหลายมาตราที่ยังคงเป็นปัญหาอย่างเช่น มาตรา 269 ที่กำหนดให้มี สว.250 คน ที่มาจากการแต่งตั้งโดย คสช. มาตรา272 ที่ให้ สว. ชุดนี้มีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรี เราต่างรู้กันดีว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีกลไกสืบทอดอำนาจ เพื่อให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นนายกฯอย่างน้อย 2 สมัย และตัวพล.อ.ประยุทธ์ ที่เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง กลไกแบบนี้ถ้าไม่มีการเอาออกไป ตนคิดว่าเราจะปรองดองกันได้ยาก และต้องย้ำว่าที่ปรองดองกันไม่ได้ไม่ใช่เพราะว่าคนเห็นต่างจากรัฐบาลไม่อยากปรองดอง แต่เป็นเพราะฝ่ายรัฐบาลไม่ยอมลดลาวาศอก ถ้ารัฐบาลยังไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญที่มีเนื้อหาประชาธิปไตย คงเป็นการยากที่จะสร้างบรรยากาศแห่งการพูดคุยได้

“ผมอยากฝากท่านประธานไปถึงสว.ว่า การที่ท่านออกมาขู่การชุมนุมของนักศึกษา ว่าเป็นการจาบจ้วงสถาบันและอาจนำไปสู่การนองเลือดนั้น ท่านไม่พูดเรื่องนี้จะดีกว่า การอภิปรายของสว.แบบนี้ มีแต่จะสร้างบรรยากาศของความหวาดกลัว และหากสถานการณ์ยังดำเนินแบบนี้ต่อไป ความขัดแย้งเก่ายังไม่ได้ถูกแก้แล้วยังจะสร้างความขัดแย้งใหม่ขึ้นมา โอกาสที่จะนำไปสู่การปรองดองก็คงเป็นเรื่องยาก ผมจึงขอเรียกร้องต่อเพื่อนสมาชิกทุกท่านว่า เพื่อประโยชน์ของการปรองดองที่กำลังจะมีขึ้น เรามีความจำเป็นที่จะต้องรีบแก้รัฐธรรมนูญ และยุบสว.ทั้ง250คนนี้เสีย”

ทั้งนี้ รังสิมันต์ กล่าวต่อว่า อีกประเด็นหนึ่งที่ถูกตั้งข้อสังเกตในรายงานฉบับนี้คือการนิรโทษกรรม ซึ่งในรายงานก็เขียนอย่างชัดเจนว่าเป็นการนิรโทษกรรมสำหรับคดีที่มีมูลเหตุทางการเมือง หมายความว่าใครจะได้รับการนิรโทษกรรมบ้าง วก็จะต้องไปพิจารณาจากสิ่งที่เขากระทำว่ามีสาเหตุมาจากอะไร กฎหมายที่เคยใช้ลงโทษบุคคลนั้นไม่ใช่สาระสำคัญจองการพิจารณา ปัญหาจึงมีอยู่ว่ารายงานเล่มนี้กลับเลือกที่จะยกเว้นผู้ที่ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 ซึ่งเราก็ต้องยอมรับว่า คนเห็นต่างจำนวนมากถูกเำเนินคดีด้วยมาตรานี้ การระบุเช่นนี้ไม่สามารถสร้างบรรยากาศแห่งการปรองดองตามที่รายงานฉบับนี้หวังเอาไว้ได้ ในทางกลับกันการระบุเช่นนี้เป็นการชี้โพรงให้เห็นว่ากฎหมายอะไรที่เป็นสาเหตุของการสร้างบรรยากาศที่ปรองดองไม่ได้เราจึงไม่ควรระบุเอาไว้ในรายงานว่า ให้ยกเว้นกฎหมายมาตราใดแบบที่ปรากฎในรายงานเพราะมาตรา 112 ก็คือเครื่องมือหนึ่ง ที่ถูกใช้เพื่อรังแกคนเห็นต่างทางการเมือง

“ผมคิดว่าทุกท่านรู้อยู่แก่ใจของตนเองดีว่า รากปัญหาของเรื่องนี้อยู่ตรงไหน ผมไม่สบายใจเลยว่าเพื่อนสมาชิกจากฝ่ายรัฐบาลแกล้งหลับตาข้างเดียว ทำเป็นไม่รู้ร้อนรู้หนาว ผมคิดว่าท่านกำลังเพิ่มอุณหภูมิของสถานการณ์ให้ร้อนแรงยิ่งขึ้น สถานการณ์การชุมนุมของนักศึกษาตอนนี้ ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองสมควรรับฟังความจริงอันกระอักกระอ่วนนี้ ไม่ใช่ผลักอนาคตของชาติไปเป็นศัตรู ท่านต้องไม่ลืมว่าหากย้อนกลับไปเมื่อ 16 ปีที่แล้วนักศึกษาที่ชุมนุมอยู่ตอนนี้เขามีอายุไม่กี่ขวบ หมายความว่า 16 ปีที่ผ่านมา เราทั้งหลายในห้องนี้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างพวกเขาของขึ้นมา ผมทราบมาว่าเพื่อนสมาชิกฝ่ายรัฐบาลจะไม่เห็นชอบในรายงานฉบับนี้ ผมก็อยากจะให้ท่านเปิดตาทั้งสองข้าง เพราะผมก็เชื่อว่าท่านก็ทราบดี ว่ารากแห่งความขัดแย้งนี้ ความจริงอันกระอักกระอ่วนนี้คืออะไร”

บทความที่เกี่ยวข้อง