“กรมเจ้าท่า” เตรียมแก้กฎหมายดึงเรือเดินทะเลขนาดต่ำกว่า 500 ตันกรอส ขึ้นบัญชีเรือควบคุม หวังเพิ่มความรับผิดชอบกรณีเกิดอุบัติเหตุ คาดกำหนดใช้ปีนี้ ระบุเดินหน้าฟ้องแพ่ง จ่อเรียก “ราชาเฟอร์รี่” รับผิดค่าเสียหาย เหตุเรือล่มภูเก็ต

Highlight, การเมือง
5 สิงหาคม 2020

นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการดำเนินคดี การจากกรณีเหตุเรือราชาเฟอร์รี่ล่ม ที่จังหวัดภูเก็ต จนมีผู้เสียชีวิตและสูญหาย โดยระบุว่า ตนได้รายงานกรณีเรือเฟอร์รี่ล่มที่เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี(ครม.) รับทราบ

โดยขณะนี้กรมเจ้าท่าได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงแล้ว เตรียมดำเนินคดีผู้ประกอบการทางคดีแพ่ง เรียกชดเชยค่าเสียหายให้กับผู้เสียหาย ส่วนการค้นหาผู้สูญหายที่เหลือ 3 รายนั้น ยังร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับทำการกู้เรือ และรถบรรทุกปี 3 คัน แต่ขณะนี้ยังไม่พบเนื่องจากกระแสน้ำแรง และติดปัญหาเรื่องสภาพอากาศ แต่ทุกฝ่ายอยู่ระหว่างวางแผนร่วมกัน

ด้านนายวิทยา ยาม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า (จท.) กล่าวว่า กรณีดังกล่าวกรมเจ้าท่าเตรียมออกมาตรการจัดระเบียบความปลอดภัยเรือเฟอร์รี่ เรือโดยสาร และแพขนานยนต์ที่ให้บริการในทะเล ซึ่งปัจจุบันมีจำนวน 400-500 ราย โดยเตรียมแก้ไขกฎหมาย เพื่อปรับลดขนาดเรือเดินทะเลที่มีขนาดต่ำกว่า 500 ตันกรอส ให้อยู่ในบัญชีเรือควบคุมตามกฎหมาย

ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการเรือเฟอร์รี่ เรือโดยสาร และแพขนานยนต์ในทะเล เข้ามามีส่วนร่วมในการรับผิดชอบตามกฎหมาย ทั้งในส่วนคดีแพ่ง และอาญา หากเกิดอุบัติเหตุจากการให้บริการประชาชนและนักท่องเที่ยว คาดว่าจะเร่งรัดให้สามารถบังคับใช้ได้ภายในปีนี้

“ปัจจุบันเรือเฟอร์รี่ และเรือโดยสายในทะเลมีน้ำหนักบรรทุกน้อยกว่า 500 ตันกรอส จึงไม่ได้อยู่ในบัญชีควบคุม หากมีการแก้กฎหมายปรับลดขนาดบรรทุกควบคุมลง เรือเฟอร์รี่ และเรือโดยสารจะเข้ามาอยู่ในบัญชีควบคุมอัตโนมัติ ซึ่งตามกฎหมายกำหนดให้นายจ้างต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการรับผิดชอบกรณีเกิดอุบัติเหตุ นอกเหนือไปจากปัจจุบันที่กรมเจ้าท่าจะดำเนินคดีอาญาได้เฉพาะกับ คนขับเรือหรือลูกจ้างเท่านั้น”

ส่วนการดำเนินคดีกับเจ้าของเรือราชาเฟอร์รี่ที่ล่ม จังหวัดภูเก็ต เจ้าของเรือในฐานะนายจ้างจะถูกดำเนินคดี และรับผิดตามกฎหมาย กรณีที่ลูกจ้าง หรือคนขับเรือไปกระทำละเมิด ด้วยการฝ่าฝืนออกเรือจนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัยพ์สิน ซึ่งเป็นคดีทางแพ่งที่จะต้องฟ้องร้องดำเนินคดีต่อไป ส่วนกรณีเรือนั้น ขณะนี้กรมเจ้าท่าได้สั่งพักใช้เรือไปแล้วจนกว่าจะสามารถกู้เรือและซ่อมแซมให้เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัย จึงจะสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้

นายวิทยา กล่าวด้วยว่า ขณะนี้กรมเจ้าท่ากำลังเชิญผู้เสียหายมาหารือ เพื่อรวบรวมตัวเลขความเสียหายที่เกิดขึ้นจากกรณีการเสียชีวิต การบาดเจ็บ รวมทั้งค่าใช้จ่ายที่ภาครัฐได้เข้าไปช่วยเหลือดูแล และกู้ภัย โดยขณะนี้อัยการอยู่ระหว่างรวบรวมตัวเลขความเสียหายทั้งหมด เพื่อยื่นฟ้องแพ่งเรียกค่าเสียหายทั้งหมดต่อไป คาดว่าจะฟ้องได้ในเร็วๆ นี้

บทความที่เกี่ยวข้อง