“9 ข้อควรทำ” เมื่อโรงเรียนเปิดอีกครั้งหลังโควิด-19

Highlight, การศึกษา
1 กรกฎาคม 2020

ในช่วงภาวะการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้รัฐบาลประกาศปิดสถานที่สาธารณะ ห้างสรรพสินค้า ร้านให้บริการต่าง ๆ  รวมไปถึงโรงเรียน เพื่อยับยั้งการระบาดของโรค โดยล่าสุด กระทรวงการศึกษาธิการได้ประกาศเลื่อนเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 จากวันที่ 16 พฤษภาคม 2563 ไปเป็นวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายก็ยังกังวลเรื่องการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่อาจกระทบกับสุขภาพเด็กนักเรียน และมีการเสนอให้เลื่อนเปิดเทอมอีกครั้งเป็นวันที่ 1 สิงหาคม 2563 แต่ไม่ว่าจะเปิดเรียนเมื่อใด สิ่งที่สำคัญมากที่สุดคือความปลอดภัยและสุขภาพของเด็ก ด้วยเหตุนี้สำนักข่าว NPR จึงได้รวบรวมแนวทาง 9 ข้อที่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าควรทำเมื่อเปิดเรียน

 

เพิ่มมาตรการดูแลสุขภาพและรักษาความสะอาด

Michael Mulgrew หัวหน้าสหภาพครูในนิวยอร์ก ชี้ว่า อาคารเรียนไม่ใช่สถานที่ที่ควรไปอยู่ในช่วงการระบาดใหญ่ และควรมีมาตรการรักษาความปลอดภัยให้กับเด็กนักเรียน เช่น การสวมหน้ากากอนามัย ล้างมืออย่างสม่ำเสมอ ทำความสะอาดสถานที่บ่อยขึ้น และรักษาระยะห่างทางสังคม ซึ่งมาตรการเหล่านี้ต้องใช้กับเด็กเล็กด้วย ประเทศเดนมาร์กได้เปิดเรียนเป็นที่เรียบร้อย ในวันที่ 15 เมษายน 2563 ที่ผ่านมาหลังจากที่ปิดเมืองไปกว่า 4 สัปดาห์ เด็กนักเรียนต้องเข้าแถวในตอนเช้าโดยเว้นระยะห่าง 2 เมตร และในห้องเรียนจะมีเด็กนักเรียนเพียง 10 คนเท่านั้น ขณะที่วิชาศิลปะ จะมีการเรียนการสอนทางวิดีโอแชท เด็กนักเรียนสามารถเข้าไปเล่นในสนามเด็กเล่นได้ครั้งละ 5 คนเท่านั้น Ida Storm Jensen ผู้อำนวยการโรงเรียนนานาชาติโคเปนเฮเกนเล่าว่า ทางโรงเรียนได้คิดเกม “แตะเงา” เพื่อรักษาระยะห่าง 2 เมตร และนักเรียนไม่จำเป็นต้องสัมผัสกัน

 

ลดขนาดห้องเรียนให้มีนักเรียนในห้อง 12 คนหรือน้อยกว่า

Maria Litvinova นักวิจัยจากสถาบันการแลกเปลี่ยนสารสนเทศทางวิทยาศาสตร์ ประเทศอิตาลี ได้วางรูปแบบของโรงเรียนที่สามารถลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โดยเธอระบุว่า หากไม่มีวิธีการรักษาหรือวัคซีน ก็ไม่มีทางที่การเปิดเรียนอีกครั้งจะมีความปลอดภัย แต่เธอก็แนะนำว่าการลดการปฏิสัมพันธ์ของเด็กนักเรียนจะสามารถช่วยได้ ซึ่งแปลว่า จำนวนนักเรียนในห้องเรียนต้องลดลง  อย่างไรก็ตาม เด็กมักไม่ใช่ผู้ป่วยที่มีอาการหนัก ซึ่ง Eskelsen Garcia กล่าวว่า สิ่งที่เธอกังวลไม่ใช่แค่สุขภาพของเด็กนักเรียน แต่ยังรวมถึงคุณครู พนักงานในโรงเรียน คนทำอาหาร และภารโรงอีกด้วย

 

ตารางเรียนที่ต้องปรับเปลี่ยน

การลดขนาดห้องเรียนหมายถึงตารางเรียนที่ต้องปรับเปลี่ยนตามไปด้วย Mulgrew แนะนำว่า เด็กนักเรียนกลุ่มหนึ่งอาจจะต้องมาเรียนในวันจันทร์ พุธ ศกร์ ในสัปดาห์หนึ่ง และวันอังคาร กับวันพฤหัสบดีในสัปดาห์ต่อไป โดยทำแบบนี้สลับกับเด็กนักเรียนกลุ่มอื่น ๆ ขณะที่หลายคนเสนอให้เป็นการเข้าเรียนในช่วงเช้าและช่วงบ่าย

 

 

เปิดเรียนให้เด็กเล็กก่อน

เดนมาร์กเปิดสถานรับเลี้ยงเด็กเล็ก พร้อมกับโรงเรียนประถมก่อน ขณะที่นอร์เวย์เริ่มจากโรงเรียนอนุบาล เช่นเดียวกับอิสราเอล โดยผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า เด็กเล็กมักจะเรียนกับครูเพียงคนเดียว ดังนั้น การเปิดเรียนใหม่จึงไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับเด็กเหล่านี้มาก แต่ในทางกลับกัน ก็มีข้อโต้แย้งว่าเด็กเล็กนั้นมีแนวโน้มที่จะใช้มือสัมผัสใบหน้าและเอามือเข้าปากมากกว่าเด็กวัยอื่น ซึ่งนั้นก็ทำให้มีความเสี่ยงที่จะแพร่เชื้อโรคได้เช่นกัน

 

ปฏิทินปีการศึกษาใหม่

มีคำแนะนำให้เริ่มเปิดเรียนให้เร็วขึ้น หรือไม่มีช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อน เพื่อชดเชยการเรียนการสอนที่ขาดหายไประหว่างช่วงการปิดโรงเรียน ซึ่งในประเทศไทยมีการกำหนดให้ไม่มีการปิดภาคเรียนที่ 1 ในเดือนตุลาคม 2563 และในเดือนเมษายน 2564 เนื่องจากมีการเลื่อนเปิดภาคเรียนล่าช้ากว่าเดิม 2 เดือน จึงต้องมีการจัดการเรียนการสอนให้ครบตามหลักสูตร

 

การให้ความร่วมมือที่แตกต่างกัน

ถึงแม้โรงเรียนจะเปิดเรียนอีกครั้ง แต่ผู้ปกครองบางส่วนก็ยังเลือกที่จะให้ลูก ๆ ของพวกเขาอยู่ที่บ้าน ในเดนมาร์ก มีกลุ่มในเฟซบุ๊กที่ชื่อว่า “ลูกของฉันจะไม่เป็นหนูตะเภา” ซึ่งมีสมาชิกมากกว่า 40,000 คน Melissa Thomasson นักเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข จากโอไฮโอ เผยผลวิจัยที่ชี้ว่า แม้โรงเรียนจะเปิดเรียนอีกครั้งแต่ เด็กนักเรียนกว่า 200,000 คนลงทะเบียนที่จะอยู่บ้าน เพราะกลัวการแพร่ระบาดของโรค

 

ยกเลิกกิจกรรมโรงเรียน งานกีฬาสี หรือประชุมผู้ปกครอง

เด็กนักเรียนไม่สามารถรวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ และผู้ปกครองของนักเรียนก็จะไม่สามารถเข้ามาในอาคารของโรงเรียนเช่นกัน

 

เรียนทางไกล

ผู้เชี่ยวชาญต่างเห็นตรงกันว่าการเรียนทางไกลยังคงต้องมีอย่างต่อเนื่อง เพราะปฏิทินการศึกษาใหม่ และการเตรียมปิดโรงเรียนอีกครั้งในอนาคตหากการแพร่ระบาดเลวร้ายขึ้นอีกครั้ง ซึ่งนั่นแปลว่าต้องมีการฝึกฝนและให้การสนับสนุนครูในการสอนทางไกล ขณะเดียวกันก็ต้องเตรียมอุปกรณ์การเรียนทางไกลให้กับนักเรียนทุกคน

 

ให้ความช่วยเหลือแก่นักเรียน

ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนา กล่าวว่า การระบาดของโรคโควิด-19 จะส่งผลต่อจิตใจของเด็กนักเรียนทุกคน เมื่อโรงเรียนเปิดทำการสอนอีกครั้ง ความบอบช้ำทางจิตใจที่เกิดขึ้นกับเด็กจึงเป็นภารกิจหลักของครูทุกคน “มีความจำเป็นสำหรับเราทุกคนที่ต้องพุ่งเป้าไปที่การเรียนของเด็กทุกคน ซึ่งไม่ใช่การสนับสนุนด้านการศึกษาเท่านั้น แต่เรายังต้องให้ความช่วยเหลือเรื่องสุขภาพจิตอีกด้วย” James Lane ผู้เชี่ยวชาญจากเวอร์จิเนีย กล่าว
 
ขอขอบคุณ

ข้อมูล :NPR

ภาพ :AFP

บทความที่เกี่ยวข้อง