เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2567 ดร.สุริยะใส กตะศิลา คณบดีวิทยาลัยผู้นำและนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต และอดีตผู้ประสานงานกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก…
บทเรียนนักการเมืองแก้รธน.
เสียงข้างมากในสภา ไม่มีความหมายเสมอไป
ในที่สุดความพยายามแก้ไขเพิ่มเติม รัฐธรรมนูญรายมาตราก็กลายเป็นเกมการเมืองในบรรดาพรรคการเมืองด้วยกัน
เพราะพรรคใหญ่อย่างพรรคเพื่อไทย เข้าเกียร์ถอยพับแผนไปก่อน แล้วรอเพื่อรอจังหวะรุกกลับมาใหม่
ขณะที่พรรคประชาชนลดเพดาน พักการแก้ประเด็นจริยธรรม แต่ยังเดินหน้าในประเด็นการรื้อองค์กรอิสระ ก็ดูเหมือนจะถูกโดดเดี่ยวจากพรรคอื่นๆ
แม้กระทั่งพรรคเพื่อไทยที่เป็นพรรคแนวร่วมในการแก้รัฐธรรมนูญมาตั้งแต่ต้น
จังหวะก้าวที่ผิดพลาดของพรรคที่เสนอแก้รัฐธรรมนูญในขณะนี้ น่าจะเกิดจากการชิงเสนอแก้ไขเพิ่มเติมรายมาตรา แทนที่จะรอการแก้ไขทั้งฉบับ เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างจริงจังหรือรอให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ก่อน
โดยคิดแต่เพียงว่าเมื่อสองพรรคใหญ่จับมือกันทุกอย่างก็น่าจะง่าย
แต่สุดท้ายสังคมจับได้ว่าประเด็นที่แก้ไขเกี่ยวข้องกับประโยชน์ของนักการเมืองมากกว่าประโยชน์ของประชาชนทำให้ขบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราแทบจะปิดเกมไปในที่สุด
เท่านั้นไม่พอ ส่งผลให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับอาจจะถูกลากเกมยื้อ ดึงเกมยาวออกไป
โดยเริ่มจากการพิจารณาร่างกฎหมายประชามติของกรรมาธิการวุฒิสภา ที่เห็นต่างจากร่างของสภาผู้แทนราษฎรโดยกรรมาธิการวุฒิสภาแก้ไขให้กลับไปใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น (double majority)ในการหาข้อยุติของการทำประชามติ ซึ่งเปลี่ยนไปจากร่างแก้ไขของสภาผู้แทนราษฎรที่ให้มีประชามติข้างมากชั้นเดียว
จนทำให้เกิดความเห็นต่างกันระหว่างวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร
ส่งผลได้ขั้นตอนการทำกฎหมายประชามติยืดเยื้อไปอย่างน้อยก็อาจจะทอดยาวไปเป็นปี
รวมทั้งประเด็นการทบทวนบทบาทองค์กรอิสระที่มีหลายพรรคการเมืองเห็นตรงกัน ก็อาจจะแพแตกตามไปด้วย
เพราะล่าสุดคำร้องยุบพรรคภูมิใจไทย และพรรคพลังประชารัฐถูก กกต. ตีตกไป จึงไม่มีเหตุที่พรรคภูมิใจไทยจะไปแก้รัฐธรรมนูญเพื่อเปิดศึกกับองค์กรอิสระ
ทำให้การหวังเสียงจาก สว. 1 ใน 3 หรืออย่างน้อย 67 เสียง เพื่อร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญก็แทบจะปิดประตูไปในที่สุด
ทั้งหมดนี้เป็นบทเรียนที่นักการเมืองต้องตระหนักตลอดเวลา ว่าเสียงข้างมากที่ไร้ซึ่งความชอบธรรม ไม่มีความหมายเสมอไปในระบบรัฐสภา