ม.อ. มุ่งมั่นยกระดับยางพาราไทย สู่งานวิจัยและนวัตกรรมระดับโลก พร้อมส่งเสริมคุณภาพชีวิตสู่ชุมชน

Highlight, การศึกษา
25 กันยายน 2024

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในฐานะที่เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของภาคใต้ ที่ยึดถือประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง และมุ่งมั่นสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการ ด้วยการวิจัยและนวัตกรรมที่มีชื่อเสียง ได้มีการพัฒนายกระดับยางพาราของไทยให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลาย จนเป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ
.
รศ.นพ.สุนทร วงษ์ศิริ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า ยางพาราอยู่คู่กับคนไทยมาอย่างยาวนาน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จึงได้ปักหมุดเรื่องนวัตกรรมยางพาราไว้เป็นนโยบายสำคัญ เพื่อส่งเสริมให้กับทางภาคธุรกิจในพื้นที่ของภาคใต้โดยเฉพาะ ทำให้สังคมเติบโตและมีเศรษฐกิจที่ดีได้       จึงพยายามทุ่มเททั้งทีมนักวิจัย บุคลากรในหลายภาคส่วน รวมทั้งงบประมาณมาช่วยกัน จนกระทั่งสามารถสร้างองค์ความรู้งานวิจัย สร้างกลไกในการผลักดัน แล้วได้ช่วยกันทำเกี่ยวกับเรื่องของนวัตกรรมต่าง ๆ เหล่านี้ สิ่งสำคัญอีกอย่างที่ขาดไปไม่ได้ นั่นคือ การนำเอาองค์ความรู้ในเรื่องงานวิจัยและนวัตกรรมยางพารา มาร่วมถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน โดยผ่านทางคณาจารย์ นักวิจัย เพื่อที่เราจะได้เติบโตไปพร้อม ๆ กับชุมชนและสังคมโดยรอบ
.
“จุดมุ่งหมายของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คือ เราอยากปั้นให้เกิดการเติบโตในลักษณะของผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จ ไม่ใช่แค่ SMEs หรือ Startup ในมิติของเทคโนโลยี แต่ยังส่งเสริมไปยัง นวัตกรรมทางการตลาด เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถส่งไปจำหน่ายในต่างประเทศได้ในท้ายที่สุด สิ่งสุดท้ายที่สำคัญเมื่อผู้ประกอบการไปถึงเป้าหมายแล้ว ก็อยากให้กลับมาช่วยชุมชนในพื้นที่บ้านเกิด โดยนำเอาพื้นฐานของงานวิจัยและนวัตกรรมที่มีอยู่ บวกกับประสบการณ์ที่ได้ทำธุรกิจจนประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งแล้ว มาช่วยขับเคลื่อนให้ชุมชนบ้านเกิดของตัวเองได้เติบโตไปพร้อมกัน”
.
รศ.ดร.เอกวิภู กาลกรณ์สุรปราณี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนานวัตกรรมยางพารา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า นวัตกรรมยางพารา คือการนำเอาองค์ความรู้ที่มีและสั่งสมมาในหลาย ๆ รุ่น ไปสู่การใช้ประโยชน์ให้เกิดผลกระทบขึ้นต่อเศรษฐกิจ ชุมชน และสิ่งแวดล้อมได้จริง ในทางเศรษฐกิจ เราจะต้องสร้างคุณค่าใหม่ ๆ ของยางพารา เพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ ขณะเดียวกันการมุ่งมั่นพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือนวัตกรรมใด ๆ สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ คือเรื่องของคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของกลุ่มเกษตรกร และเรื่องยางพาราเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เนื่องจากยางพารายังคงเป็นพืชเพียงชนิดเดียวที่สามารถนำมาใช้สร้างทดแทนวัสดุจากการสังเคราะห์ของปิโตรเลียมได้ ซึ่งจะทำให้สิ่งแวดล้อมของเราโดยรวมดีขึ้น
.
“จริง ๆ แล้วหากเราแบ่งยุคของการแข่งขันเรื่องยางพาราสามารถแบ่งออกได้ 3 ห้วงอายุ โดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้ดำเนินการครอบคลุมทุก ๆ มิติที่เกี่ยวข้อง เริ่มตั้งแต่ในอดีตที่ทุกคนมุ่งหวังในเรื่องของผลผลิตที่มีปริมาณมาก เพื่อให้ได้มาซึ่งผลตอบแทนกับเกษตรกรเป็นหลัก บริบทของมหาวิทยาลัยจึงต้องช่วยมุ่งเน้นการปรับปรุงพันธุ์ การส่งเสริม และการจัดการการปลูกที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งต่อมาเป็นยุคของอุตสาหกรรม ในเรื่องของอุตสาหกรรมยางพาราเรามุ่งเน้นการแปรรูปที่สามารถนำไปแข่งขันกับประเทศอื่นได้ ถือเป็นยุคที่แข่งขันกันในเรื่องของการสร้างกำลังการผลิตจำนวนมาก บริบทของมหาวิทยาลัยในยุคนั้นจึงต้องเน้นการส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิต เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การลดต้นทุน และการสร้างกำลังคนเข้าสู่อุตสาหกรรม และในยุคใหม่เป็นยุคที่ต้องใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น การใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประสิทธิภาพสูงที่สุด เพื่อให้เกิดการพัฒนาไปสู่ความยั่งยืน เนื่องจากยางพารามาจากฐานชีวภาพ แล้วยางพาราก็มีการใช้ทรัพยากรหรือคาร์บอนติดตัวค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับพอลิเมอร์ชนิดอื่น ในยุคนี้มหาวิทยาลัยจึงมุ่งเน้นการสร้างนวัตกรรมทั้งด้านการสร้างคุณค่าใหม่ ๆ ให้กับวัสดุที่ผลิตจากยางพารา นวัตกรรมการจัดการ และนวัตกรรมการผลิต เป็นต้น”
.
ขณะที่ คุณณัฐวี บ้านบัว กรรมการผู้จัดการ บริษัท รีฟินน์ รับเบอร์เทค จำกัด กล่าวด้วยว่า ตนเองเติบโตมาในครอบครัวของเกษตรกรชาวสวนยางพาราอยู่แล้ว และในฐานะศิษย์เก่า รู้สึกโชคดีและมีความภูมิใจที่ได้รับการศึกษา ปลูกฝัง และส่งเสริมการประกอบธุรกิจ ซึ่งมีมหาวิทยาลัยสงขลานครินท์ คอยผลักดัน และให้การสนับสนุนเรื่อยมา โดยหวังว่าผลิตภัณฑ์ไม่เพียงแต่จะสามารถสร้างกำไรทางการค้าได้เท่านั้น แต่ยังจะมีส่วนช่วยสร้างกำไรสู่ชุมชน เพื่อให้สังคมมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นตามไปด้วย
.
“ในฐานะเอกชนเราคาดหวังกำไรสูงสุดในการประกอบธุรกิจอยู่แล้ว แต่อีกด้านหนึ่งเราสัมผัสได้ถึงความเป็นครอบครัวชาวสวนยางพารา ประกอบกับการเป็นลูกพระบิดา ที่ถือปณิธาน “ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง” จึงอยากกระจายไปสู่ชุมชนเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วย ที่สำคัญเราอยากนำนวัตกรรมยางพาราที่ถูกคิดค้น และสร้างเป็นผลิตภัณฑ์โดยคนไทย เพื่อให้เป็นที่รู้จักและสามารถตีตลาดในระดับโลกได้ด้วย”

บทความที่เกี่ยวข้อง