เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2567 นายธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทาน กล่าวว่า เตรียมปรับเพิ่มการระบายเขื่อนเจ้าพระยาในอัตราไม่เกิน 1,500 ลบ.ม./วินาที จากปัจจุบันซึ่งระบายที่ 1,099 ลบ.ม./วินาที คาดว่า จะเริ่มปรับเพิ่มอัตราการระบายประมาณวันที่ 22-23 กันยายน และจะทยอยปรับแบบขั้นบันได โดยพิจารณาจากปริมาณน้ำที่ไหลผ่านจังหวัดนครสวรรค์ ที่อาจจะสูงขึ้นจากฝนที่ตกเพิ่มขึ้นด้วยอิทธิพลของพายุดีเปรสชัน ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศแจ้งเตือน
.
นายธเนศร์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้กรมชลประทานได้ปรับลดการระบายน้ำที่เขื่อนเจ้าพระยาต่อเนื่องประมาณ 1 สัปดาห์เพื่อลดผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำด้านท้ายเขื่อน แต่ฝนที่จะตกเพิ่มขึ้นจากพายุดังกล่าว จะส่งผลให้มีน้ำท่าไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นอีกระลอก กรมชลประทานใช้ระบบชลประทานทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออกที่อยู่เหนือเขื่อนเจ้าพระยารับน้ำเข้าไปตามศักยภาพของคลอง รวมทั้งควบคุมการระบายน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำท่าและฝนที่ตกทางตอนบนด้วย
.
“การปรับเพิ่มการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา จะส่งผลให้ระดับน้ำด้านท้ายเขื่อน บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ บริเวณคลองโผงเผง จังหวัดอ่างทอง คลองบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แม่น้ำน้อยบริเวณตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา ตำบลลาดชิด ตำบลท่าดินแดน อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมประมาณ 60 เซนติเมตรถึง 1 เมตร ขอให้ประชาชนติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำจากทางหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิด จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ โดยสามารถติดต่อขอรับทราบข้อมูลเพิ่มเติมที่โครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือสายด่วน กรมชลประทาน 1460 ได้ตลอดเวลา” นายธเนศร์ กล่าว
.
ด้านนายเดช เล็กวิชัย รองอธิบดี ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมชลประทาน ออกหนังสือแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำลุ่มเจ้าพระยา ฉบับที่ 8/2567 ลงวันที่ 17 กันยายน 2567 ไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด 11 จังหวัดลุ่มเจ้าพระยา ได้แก่ จังหวัดอุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ และกรุงเทพมหานคร ให้เตรียมรับสถานการณ์น้ำ และประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำน้อย ให้เฝ้าระวังระดับน้ำสูงขึ้น และติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด
.
ทั้งนี้ เนื่องจาก กรมชลประทานคาดการณ์ว่า ใน 1- 7 วันข้างหน้า ในวันที่ 24 กันยายน 2567 จะมีปริมาณน้ำไหลผ่านสถานีวัดน้ำ C2 จ.นครสวรรค์ ประมาณ 1,500 – 1,600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และปริมาณน้ำจากลำน้ำสาขา จะมีประมาณ 200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้ปริมาณน้ำที่เหนือเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท มีปริมาณ 1,800 ลูกบาศก์เมตรวินาที จึงมีความจำเป็นต้องระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา เพิ่มขึ้นในอัตราไม่เกิน 1,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยจะมีการระบายเพิ่มขึ้นแบบขั้นบันได ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนในพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ บริเวณคลองโผงเผง จังหวัดอ่างทอง คลองบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา ตำบลลาดชิด ตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำสูงขึ้นจากปัจจุบันอีกประมาณ 60-100 เซนติเมตร อาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชุมชน