วันที่ 15 กันยายน 2567 ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ตามที่ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กำชับมาตรการดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ประสบอุทกภัย ให้เพิ่มความถี่ในการออกตระเวนตรวจตราป้องกันปราบปราม เฝ้าระวังการก่อเหตุลักทรัพย์ซ้ำเติมพี่น้องประชาชน หากจับกุมได้ให้มีการสืบสวนขยายผลดำเนินการไปยังผู้ร่วมขบวนการทุกราย ดำเนินการให้เด็ดขาดและถึงที่สุดทุกมิตินั้น
.
พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ กล่าวว่าได้มีวิทยุสั่งการด่วนที่สุดถึงผู้บัญชาการหน่วยงานต่างๆ กรณีกรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศเรื่อง ฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณประเทศไทย และคลื่นลมแรงบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบน ว่า ในช่วงวันที่ 13–17 กันยายน 2567 ประเทศไทยจะมีฝนตกหนักหลายพื้นที่ โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ได้ประกาศเตือนให้้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมาก และฝนตกสะสม ซี่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม ประกอบกับอิทธิพลของพายุยางิ และมีร่องมรสุมความกดอากาศต่ำพาดผ่านภาคเหนือตอนบน ทำให้เกิดสถานการณ์อุทกภัย บริเวณพื้นที่จังหวัดเชียงรายนั้น เพื่อเป็นการป้องกันการก่อเหตุอาชญากรรม การโจรกรรมทรัพย์สินและประทุษร้ายต่อทรัพย์ อันเป็นการซ้ำเติมประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนในสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้น จึงให้ทุกหน่วยดำเนินการ ดังนี้
.
1. เพิ่มความเข้มงวดในการปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย ดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เพื่อป้องกันมิให้เกิดเหตุอาชญากรรมในลักษณะเป็นการซ้ำเติมประชาชน เพิ่มกำลังสายตรวจทั้งทางบกและทางน้ำ และชุดช่วยเหลือประชาชนออกปฏิบัติการในพื้นที่ประสบอุทกภัย
.
2. ปรับแผนการตรวจ การจัดและควบคุมสายตรวจทุกประเภทให้เหมาะสมกับพื้นที่และห้วงเวลา โดยประสานความร่วมมือทั้งด้านข้อมูลและการปฏิบัติกับฝ่ายปกครอง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และอาสาสมัคร บูรณาการร่วมกันออกตรวจ ตั้งจุดตรวจ จุดสกัด และการรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ ป้องกันไม่ให้กลุ่มมิจฉาชีพฉวยโอกาสในการลักทรัพย์สิน หรือประทุษร้ายต่อทรัพย์ในพื้นที่ชุมชนเมือง หรือพื้นที่ที่ไม่ได้ประสบปัญหาอุทกภัย ซึ่งอาจมีผู้คนอพยพเข้ามาในพื้นที่เป็นจำนวนมาก อันอาจมีกลุ่มมิจฉาชีพแฝงตัวเข้าไปก่อเหตุอาชญากรรมต่างๆ ในพื้นที่เสี่ยงและจุดล่อแหลม โดยการเพิ่มความเข้มและความถี่ ในการออกตรวจเป็นพิเศษ
.
3. ตั้งจุดตรวจบุคคล ยานพาหนะในเส้นทางล่อแหลม หรือเส้นทางที่คาดว่าคนร้ายจะใช้เป็นเส้นทางหลบหนี โดยมุ่งเน้นการตรวจสอบอาวุธ วัตถุต้องสงสัย และยาเสพติด
.
4. จัดทำแผนเผชิญเหตุคดีประทุษร้ายต่อทรัพย์ ธนาคาร ร้านทอง ตู้บริการเงินสด (ATM) ตู้เติมเงิน ย่านธุรกิจการค้า โดยกำหนดจุดตรวจ/จุดสกัดเคลื่อนที่ จุดก้าวสกัดจับที่ชัดเจน มีการทบทวน และซักซ้อมแผนเผชิญเหตุอย่างจริงจังและต่อเนื่อง
.
5. ให้หัวหน้าหน่วยกำกับดูแลการปฏิบัติด้วยตนเอง ทั้งด้านการช่วยเหลือข้าราชการตำรวจและครอบครัว การดูแลและช่วยเหลือประชาชนที่ประสบเหตุ และการปฏิบัติตามข้อสั่งการอย่างใกล้ชิด รวมถึงพิจารณาเปิดพื้นที่สถานีตำรวจ จุดตรวจ ตู้ยาม เป็นสถานที่พักพิงของผู้ประสบภัยชั่วคราว เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวก ดูแลรักษาความปลอดภัย และเป็นการป้องกันภัยที่เกิดจากการก่อเหตุอาชญากรรมต่างๆ ได้
.
6. ให้หน่วยประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบถึงกลุ่มมิจฉาชีพที่อาจฉวยโอกาสในการก่ออาชญากรรม เพื่อเป็นการป้องกันเหตุการโจรกรรมทรัพย์สินและประทุษร้ายต่อทรัพย์ในพื้นที่ประสบอุทกภัย รวมทั้งแนะนำช่องทางการแจ้งเหตุ แจ้งเบาะแสอาชญากรรมให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทราบ ทางสายด่วน 191 หรือ 1599 หรือช่องทางการสื่่อสารกับสถานีตำรวจในพื้นที่โดยตรง และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบสถานการณ์ภัยพิบัติ ประกาศแจ้งเตือนของหน่วยราชการที่เกี่ยวกับอุทกภัยในพื้นที่
.
7. ให้ผู้บังคับบัญชาทุกระดับชั้น ควบคุม กำกับดูแลการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจในสังกัดอย่างใกล้ชิด โดยกำหนดผู้รับผิดชอบให้ชัดเจน กรณีที่มีการจับกุมผู้ต้องหารายสำคัญ หรือเป็นคดีที่อยู่ในความสนใจของประชาชน ให้ ศปก. ของหน่วย รายงานให้ ศปก.ตร. เพื่อรายงาน ผบ.ตร. , รอง ผบ.ตร. และผู้ช่วย ผบ.ตร. ที่รับผิดชอบทราบ
.
พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ กล่าวว่าวันนี้จะเดินทางลงพื้นที่ประสบอุทกภัยใน จ.เชียงราย เพื่อตรวจเยี่ยมการปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย ดูแลความปลอดภัยพี่น้องประชาชน และกำชับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจตามมาตรการต่าง ๆ อย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันการเกิดอาชญากรรมซ้ำเติมพี่น้องประชาชน