กองทุนน้ำมันฯยันมีสภาพคล่องเพียงพอจ่ายหนี้กู้ 105,000 ล้านหมดปี 71

Highlight, สังคม
2 สิงหาคม 2024

นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) กล่าวถึงวงเงินกู้ 105,333 ล้านบาท ซึ่งกำลังจะถึงกำหนดเวลาทยอยจ่ายคืนเงินต้นในเดือนพ.ย.นี้ โดยจะต้องชำระคืนเงินต้นประมาณ 1,000 ล้านบาท และดอกเบี้ย 150-200 ล้านบาท โดยยืนยันว่ามีสภาพคล่องเพียงพอที่จะชำระหนี้ ปัจจุบัน กองทุนน้ำมันมีเงินไหลเข้าวันละประมาณ 88.15 ล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ 2,733 ล้านบาท/เดือน โดยกองทุนมีฐานะเป็นบวกตั้งแต่ช่วงปลายเดือนก.ค.ที่ผ่านมา แม้ว่าขณะนี้ยังต้องใช้เงินอุดหนุนดีเซลประมาณ 40 สตางค์ หรือคิดเป็น 26.73 ล้านบาท/วัน หรือ 829 ล้านบาท/เดือน ดังนั้นกองทุนฯ ยังมีสภาพคล่องเพียงพอที่จะชำระหนี้ในเดือนพ.ย.นี้ ขณะที่ในเดือนธ.ค. จำนวนการชำระหนี้จะใกล้เคียงกับเดือนพ.ย. ซึ่งมั่นใจว่ากองทุนมีเงินใช้เพียงพออย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม สกนช.ได้ทำแผนการชำระหนี้ โดยคาดว่าหนี้ดังกล่าวจะหมดภายในปี 2571
.
ทั้งนี้จากการได้เข้ามารับตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ในช่วงเดือนส.ค.63 ขณะนั้นฐานะกองทุนน้ำมันฯ ยังเป็นบวกอยู่ถึง 3 หมื่นล้านบาท แต่ด้วยวิกฤตต่างๆที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมา ส่วนใหญ่มาจากปัจจัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุม คือ ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกที่ผันผวน ก่อนสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 เมื่อมีวัคซีนเข้ามา โรคโควิดเริ่มผ่อนคลายลง เศรษฐกิจถูกกระตุ้นอัตราการเติบโต ทำให้ราคาน้ำมันเริ่มเข้าสู่ขาขึ้นเรื่อยมา จนกระทั่งโลกต้องพบกับวิกฤตที่สั่นคลอนราคาน้ำมันครั้งใหญ่ จากการสู้รบรัสเซีย-ยูเครน ในปี 2565 ทำให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นเกินระดับ 100 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล กองทุนน้ำมันถูกใช้เป็นกลไกหลักในการพยุงราคาดีเซลในประเทศไว้ไม่เกิน 30 บาท/ลิตร ควบคู่กับมาตรการลดภาษีสรรพสามิตในบางช่วง และแม้ว่าในปี 2566 สถานการณ์เริ่มผ่อนคลาย แต่ก็ยังมีความผันผวนด้านราคาจากสถานการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลาง และเศรษฐกิจที่ยังซบเซา ส่งผลให้สถานะของกองทุนน้ำมันฯ ยังคงต้องแบกรับการอุดหนุนราคาดีเซลอยู่ต่อไป จนทำให้เริ่มเกิดวิกฤตอีกรอบในปี 2567 กองทุนน้ำมันฯ ติดลบเกินกว่า 1 แสนล้านบาทอีกรอบ และครั้งนี้ถือเป็นวิกฤตสภาพคล่องของกองทุนน้ำมันฯ เองซึ่งต่างจากก่อนหน้านี้ที่วิกฤตมาจากปัจจัยภายนอก
.
“ผมกำลังจะหมดวาระผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงลง ก็คงต้องให้เจ้าหน้าที่ และผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงคนต่อไป เร่งฟื้นฟูสภาพคล่องของกองทุนน้ำมันฯ ให้กระเตื้องขึ้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ค้าน้ำมัน ตลอดจนสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้” ผู้อำนวยการ สนกช.กล่าว

 

บทความที่เกี่ยวข้อง