ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผย คอมพิวเตอร์ของโรงพยาบาลในสังกัดบางแห่งที่ได้รับผลกระทบ “จอฟ้า”
.
หลัง CrowdStrike อัปเดตซอฟต์แวร์ ได้แก้ไขปัญหาตามแนวทางของ CrowdStrike และข้อแนะนำเพิ่มเติมของสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) สามารถกลับมาใช้งานได้ตามปกติแล้ววันนี้ ไม่มีผลกระทบต่อระบบฐานข้อมูล
.
วันนี้ (23 กรกฎาคม 2567) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีเครื่องคอมพิวเตอร์ของหลายหน่วยงานทั่วโลกเกิดปัญหาจอฟ้า ไม่สามารถเข้าใช้งานระบบได้ เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา ว่า ได้รับรายงานจาก นพ.สุรัคเมธ มหาศิริมงคล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ว่า การอัปเดตซอฟต์แวร์ของ CrowdStrike ทำให้เกิดปัญหาหน้าจอฟ้าและหยุดการทำงาน (Blue Screen of Death : BSOD) บนระบบ Windows ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย โดยมีเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Windows และบนเครื่องติดตั้ง CrowdStrike ในโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขบางแห่งเกิดปัญหาหน้าจอฟ้าและหยุดการทำงาน ส่งผลให้ไม่สามารถเรียกใช้งานระบบ (BootSystem) ได้ตามปกติ ทำให้เกิดความล่าช้าในการให้บริการเช่นกัน
.
“ช่วงวันที่ 20 – 22 กรกฎาคม 2567 เป็นวันหยุดราชการ โรงพยาบาลต่างๆ ให้บริการเฉพาะผู้ป่วยอุบัติเหตุ – ฉุกเฉิน ไม่มีการบริการแผนกผู้ป่วยนอก จึงไม่ส่งผลกระทบต่อผู้รับบริการมากนัก และหน่วยงานของกระทรวงฯ ที่ได้รับผลกระทบได้มีการแก้ไขปัญหาตามแนวทางของ CrowdStrike รวมถึงข้อแนะนำเพิ่มเติมของสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) หรือ ThaiCERT ทำให้ในวันนี้ซึ่งเป็นวันเปิดทำการ เครื่องคอมพิวเตอร์ของโรงพยาบาลที่ได้รับผล
กระทบสามารถกลับมาใช้งานระบบบริการได้ตามปกติแล้ว” นพ.โอภาสกล่าว
.
นพ.โอภาสกล่าวต่อว่า เหตุการณ์ดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นจากการโจมตีทางไซเบอร์ จึงไม่มีผลกระทบใดๆต่อฐานข้อมูลของประชาชนที่มารับบริการ และหน่วยงานของ
กระทรวงฯ ได้จัดทำแผนประคองกิจการในสถานการณ์ภัยพิบัติและเหตุฉุกเฉิน (Business Continuity Plan : BCP) ไว้แล้ว ซึ่งเป็นการเตรียมการเพื่อเผชิญเหตุการณ์ไม่คาดคิดและสามารถบริหารความต่อเนื่องในการให้บริการได้ รวมถึงยังมีทีม HealthCERT โดยศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศฯ เตรียมพร้อมให้ความช่วยเหลือตลอดเวลา ทั้งนี้ กระทรวงฯ ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยด้านไซเบอร์เป็นลำดับต้นๆ มีการเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบป้องกันทางไซเบอร์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ระบบบริการของทุกหน่วยงานมีความมั่นคงปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ