นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า กรมสรรพสามิต อยู่ระหว่างของบกลางจากสำนักงบประมาณ 7,000 ล้านบาท สำหรับการจ่ายเงินอุดหนุนให้กับรถยนต์ไฟฟ้า (EV) อีก 35,000 หมื่นคัน ตามมาตรการ EV 3.0 ของรัฐบาล หลังจากที่ได้มีการจ่ายเงินอุดหนุนสำหรับรถ EV ที่เข้าเงื่อนไขในรอบแรกไปแล้วประมาณ 40,000 คัน วงเงิน 7,000 ล้านบาท
.
“มาตรการ EV 3.0 นั้น คาดว่าจะใช้งบประมาณสำหรับจ่ายเงินอุดหนุนรวมประมาณ 14,000 ล้านบาท โดยรอบแรก กรมฯ จ่ายไปหมดแล้ว 4 หมื่นคัน ประมาณ 7,000 ล้านบาท แต่ยังเหลือตกค้างอีก 3.5 หมื่นคัน ซึ่งได้ส่งเรื่องไปที่สำนักงบประมาณ เพื่อขอใช้งบกลางอีกราว 7,000 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)” นายเอกนิติ กล่าว
.
ทั้งนี้ปัจจุบันมีค่ายรถยนต์ที่เข้ามาเซ็นสัญญาเพื่อรับสิทธิประโยชน์ตามมาตรการสนับสนุน EV 3.0 ของรัฐบาล (ปี 2565-2566) แล้ว 23 บริษัท ซึ่งจะได้รับการลดอัตราภาษีสรรพสามิตจาก 8% เหลือ 2% และได้รับเงินอุดหนุนคันละ 70,000-150,000 บาท ตามขนาดความจุของแบตเตอรี่ โดยจะต้องเริ่มผลิตรถ EV ในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2567-2568 ภายใต้เงื่อนไขว่าจะต้องผลิตรถ EV ชดเชยเท่ากับยอดที่นำเข้ามาจำหน่าย โดยหากเริ่มผลิตรถ EV ในไทยปี 67 จะต้องผลิตชดเชย 1 เท่า และหากผลิตรถ EV ในปี 68 จะต้องผลิตชดเชย 1.5 เท่า อย่างไรก็ดี จากการสอบถามไปยังค่ายรถยนต์ที่เข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทยแล้ว คาดว่าปีนี้จะผลิตรถ EV ได้ราว 8-9 หมื่นคัน และเชื่อว่าจะเป็นไปตามแผนที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายว่าภายในปี 2573 จะมีการผลิตรถ EV ในประเทศไทย 7.5 แสนคัน
.
“ขณะนี้พบว่ามีค่ายรถยนต์ที่เตรียมเข้ามาลงทุนในไทยแล้ว คิดเป็นเม็ดเงินราว 40,000 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรม EV ในไทยให้กลายเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของโลก”นายเอกนิติกล่าว
.
นายเอกนิติ กล่าวอีกว่า รัฐบาลยังคงเดินหน้าสนับสนุนอุตสาหกรรม EV ต่อเนื่อง ผ่านมาตรการ EV 3.5 ซึ่งปัจจุบันมีค่ายรถยนต์เข้ามาเซ็นสัญญากับกรมฯ เพื่อรับสิทธิประโยชน์แล้ว 8 ราย โดยในส่วนนี้ จะได้รับเงินอุดหนุนราคารถยนต์เช่นเดียวกัน แต่ในระดับที่แตกต่างจากมาตรการ EV 3.0 โดยรถ EV ราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท ขนาดความจุแบตเตอรี่ตั้งแต่ 50 กิโลวัตต์ จะได้รับเงินอุดหนุน 1 แสนบาท/คันในปีแรก และ 75,000 บาท/คันในปีที่ 2 และ 50,000 บาท/คัน ในปีที่ 3-4 ส่วนรถ EV ที่มีขนาดความจุแบตเตอรี่ต่ำกว่า 50 กิโลวัตต์ จะได้รับเงินอุดหนุน 50,000 บาท/คันในปีแรก และ 35,000 บาท/คันในปีที่ 2 และ 25,000 บาท/คันในปีที่ 3-4 และได้รับสิทธิประโยชน์ลดภาษีนำเข้า CBU ไม่เกิน 40% ในช่วง 2 ปีแรก (67-68) และลดภาษีสรรพสามิตจาก 8% เหลือ 2%
.
โดยปัจจุบันจะเริ่มเห็นการผลิตรถ EV ในประเทศไทยจากค่ายรถยนต์ที่เข้ามาตรการ EV 3.0 แล้ว ส่วนค่ายรถยนต์ที่เข้ามาตรการ EV 3.5 นั้น จะต้องเริ่มผลิตรถ EV ในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2569-2570 ซึ่งมาตรการสนับสนุน EV ของรัฐบาลทั้งหมดจะสิ้นสุดในปี 2570 และจากนั้นจะไม่มีการอุดหนุนหรือลดภาษีให้แต่อย่างใด ดังนั้นจึงมองว่ามาตรการดังกล่าวเป็นแรงกระตุ้นเพื่อให้เกิดฐานการผลิตรถยนต์ EV ในประเทศไทยได้เป็นอย่างดี
.
ขณะที่ในส่วนรถยนต์สันดาปนั้น นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ด EV) ได้มอบหมายให้กระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพสามิต และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เร่งพิจารณาแนวทางการสนับสนุนเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านจากอุตสาหกรรมรถยนต์สันดาปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า เบื้องต้นได้หารือกับค่ายผลิตรถยนต์สันดาปไปบ้างแล้ว หลักๆมีการขอลดอัตราภาษี ซึ่งกรมฯ มีเงื่อนไขว่า การลดภาษีจะต้องนำมาด้วยการสร้างฐานการผลิตในประเทศ การลงทุนที่ต้องคุ้มค่า เพื่อให้เกิดอุตสาหกรรม และสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในอุตสาหกรรมรถยนต์