ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สภาผู้แทนราษฎร ส.ส. (ฉบับที่ …) พ.ศ….หลังจากได้ตำแหน่งประธานและตำแหน่งต่างๆ ทั้งนี้ กมธ.เข้าประชุมกันอย่างพร้อมเพรียง มีเพียงนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่พลาดตำแหน่งประธาน กมธ. ได้ลาประชุมในครั้งนี้
โดยนายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข ในฐานะประธาน กมธ.ฯ ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าประชุมว่า การประชุมวันนี้ถือเป็นวันแรก คิดว่าน่าจะมีการหารือในแง่ของแนวคิดก่อน โดยจะให้กมธ.สรุปว่าในแต่ละวันจะกำหนดเวลาพิจารณาอย่างไร โดยธงที่ตนตั้งไว้อยากให้เสร็จโดยเร็วและรอบคอบที่สุด แต่ต้องเปิดให้มีการถกเถียงกันมากที่สุดสำหรับคนที่มีความคิดเห็นแตกต่างกัน และจะพยายามทำให้กลไกของกมธ.เป็นที่เข้าใจของประชาชน โดยจะเสนอให้การประชุมในวันพุธ ตั้งแต่เวลา 10.30-15.00 น. และการประชุมในวันพฤหัสบดี ตั้งแต่เวลา 09.30-14.00 น.
“เราจะเดินหน้าพิจารณาให้กฎหมายไม่เป็นเงื่อนไขใดๆ และไม่เป็นปัญหาที่จะไปเพิ่มความเห็นต่างหรือความขัดแย้ง โดยขอใช้เวทีของกมธ.ในการทำหน้าที่ให้ดีที่สุด เพื่อให้ความเห็นออกมาเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย” นายสาธิต กล่าว
เมื่อถามว่า ขณะนี้มีปัญหาเรื่องของการกำหนดหมายเลขประจำตัวผู้สมัครแบบเขตเดียวเบอร์เดียวหรือบัตรเลือกตั้งสองใบแต่คนละเบอร์ นายสาธิต กล่าวว่า ในกฎหมายอาจจะมีประเด็นที่ถกเถียงกันมากและเห็นต่างกัน แต่ต้องอยู่ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา ส่วนกฎหมายเลือกตั้งจะมีความเห็นต่างในแง่ของบัตรสองใบเบอร์เดียวกันในส.ส.เขตหรือบัญชีรายชื่อหรือไม่ เรื่องนี้ต้องมีการพูดคุยกัน และในบางร่างมีการเขียนไปในรายละเอียดว่าต้องสมัครเขตก่อน จึงอาจเป็นไปได้ว่าในเขตนั้นสมัครก่อนเพื่อให้รู้เบอร์เขตและให้บัญชีรายชื่อเหมือนกับเขตนั้น ซึ่งก็จะหมายความว่าทั้งบัตรทั้งเบอร์ในระบบบัญชีรายชื่อและเขตจะไม่เหมือนกันทุกเขต แล้วจะไปพิมพ์บัตรเลือกตั้งแบบไหน เพราะต้องไปสมัครก่อน ซึ่งเรื่องนี้อยู่ในรายละเอียดของกฎหมายซึ่งยังตอบไม่ได้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะเข้าไปสู่การพิจารณาของกมธ.หลักของการพิจารณาคือร่มใหญ่ คือรัฐธรรมนูญที่แก้แล้ว ร่มเล็กคือร่างของร่างหลักและร่างของแต่ละร่างมาพิจารณาร่วมกัน ส่วนใครจะขอเสนอในการที่จะแก้ไขเพิ่มเติมหรือตัดออกก็เป็นเรื่องของกมธ.อยู่แล้ว ซึ่งส่วนใหญ่จะพิจารณาร่วมกัน
เมื่อถามว่า เป็นห่วงหรือไม่ว่าร่างกฎหมายอาจถูกส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลฎีกา คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) พิจารณาทำความเห็นว่ามีส่วนไหนขัดหรือแย้งหรือไม่ ซึ่งอาจทำให้การพิจารณามีปัญหา นายสาธิต กล่าวว่า การพิจารณาเป็นไปตามกฎหมายก็ต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ส่วนความเห็นในวาระ 3 ตนเชื่อว่าถ้าเราผ่านกมธ.แล้ว ที่ประชุมร่วมรัฐสภาก็คงจะมีความเห็นและให้ความเห็นชอบในการแก้ไขของกมธ. เพราะ กมธ.มาจากตัวแทนของทุกส่วนทั้ง ส.ว. ฝ่ายค้านและรัฐบาลจากทุกพรรคการเมือง แต่ในส่วนของรัฐสภาก็เป็นเรื่องของอนาคตที่จะต้องไปพิจารณาในที่ประชุมร่วมรัฐสภา
เมื่อถามว่า มั่นใจหรือไม่ว่าจะสามารถประคองการประชุมและการจัดทำกฎหมายลูกให้เป็นไปได้ด้วยดี ประธานกมธ. กล่าวว่า ไม่ต้องประคอง เพราะประธานทำหน้าที่เพียงแค่ควบคุมการประชุม แต่ละฝ่ายมีวุฒิภาวะ ส่วนการตกลงกันในแต่ละเนื้อหา แต่ละประเด็นที่เป็นเหตุผล เข้าใจว่าทุกฝ่ายอยากให้กฎหมายนี้เสร็จโดยเร็วและเข้าใจกลไกของ กมธ.ดี ตนจึงไม่กังวลอะไร เพราะเวทีนี้มีข้อยุติและมีการลงมติในกรณีที่ตกลงกันไม่ได้ หากใครจะสงวนความเห็นก็เป็นสิทธิ แต่กลไกนี้ก็สามารถเดินหน้าได้อยู่แล้ว