“พรรคร่วมฝ่ายค้าน” เตรียมเสนอ 5 ญัตติแก้ไข รธน. ต่อประธานรัฐสภา 16 มิ.ย.นี้

Highlight, การเมือง
14 มิถุนายน 2021

“พรรคร่วมฝ่ายค้าน” เตรียมเสนอ 5 ญัตติแก้ไข รธน. ต่อประธานรัฐสภา 16 มิ.ย.นี้  จี้ “ชวน” บรรจุวาระการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ที่ค้างการพิจารณาอยู่ให้เสร็จก่อน แล้วค่อยพิจารณาญัตติแก้ไข รธน.  ลั่น หากไม่เป็นตามแนวทางดังกล่าวสะท้อนว่า “อำนาจรัฐบาลเหนือกว่าอำนาจรัฐสภา”

 

เลขาธิการพรรคเพื่อไทย นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เปิดเผยภายหลังการประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้าน โดยระบุว่าที่ประชุมเห็นพ้องต้องกันว่าในการประชุมร่วมรัฐสภา วันที่ 22-23 มิถุนายน 2564 นี้ รัฐสภาต้องจัดให้มีการประชุมพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ประชามติให้เสร็จก่อน แล้วถึงค่อยไปพิจารณาญัตติเสนอแก้ไขเพิ่มเติมแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 2560

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังหารือถึงการยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ ทั้งหมด 5 ร่าง โดยญัตติที่เห็นพ้องเสนอร่วมกันคือการแก้ไขมาตรา 272 ที่มาของนายกรัฐมนตรี  ส่วนญัตติเสนอแก้ตามมาตรา 256  สิทธิเสรีภาพของประชาชน  ระบบการเลือกตั้ง  ยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี อำนาจ สว. และการนิรโทษกรรม นั้นพรรคเพื่อไทยจะเป็นผู้เสนอ โดยจะไม่ปิดกั้นพรรคร่วมฝ่ายค้านใดจะร่วมลงชื่อเสนอญัตติด้วยก็ยินดี โดยทั้ง 5 ญัตติ ขณะนี้ร่างเสร็จแล้ว และจะนำเสนอต่อประธานรัฐสภา ในวันพุธ ที่ 16 มิถุนายนนี้

ด้านหัวหน้าพรรคก้าวไกล นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ กล่าวย้ำว่า ไม่ต้องการร่วมสังฆกรรมการเสนอแก้รายมาตราของ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ นายไพบูลย์ นิติตะวัน และอยากให้การประชุมร่วมรัฐสภาเร่งพิจารณา ร่าง พ.ร.บ. ประชามติก่อน แล้วจึงไปพิจารณาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ  พร้อมยืนยัน เห็นด้วยกับทุกญัตติเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทย แต่เห็นว่าโจทย์ใหญ่ในตอนนี้คือต้องเร่งแก้มาตรา 272 ก่อน เพราะเป็นต้นตอของวิกฤติประเทศในตอนนี้

เช่นเดียวกับเลขาธิการพรรคก้าวไกล นายชัยธวัช ตุลาธน ที่เห็นว่าเป้าหมายหลักของการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญของ นายไพบูลย์ คือ การปิดช่องทางการเสนอแก้ทั้งฉบับ  การสร้างเงื่อนไขต่างๆ เพื่อให้นายกรัฐมนตรีคนต่อไปยังเป็น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยเฉพาะการคงระบบการเลือกตั้งที่ยังได้เปรียบ  การเปิดช่องให้ สส. ฝ่ายรัฐบาลแทรกแซงข้าราชการ เพื่อผลประโยชน์ พร้อมกล่าวย้ำว่า การประชุมร่วมรัฐสภา ควรพิจารณาเรื่องที่ค้างและเป็นเรื่องที่สำคัญก่อน ดังนั้น จึงไม่อยากเห็นประธานรัฐสภาตอบสนองความต้องการของรัฐบาล

ทั้งนี้ยังสอดคล้องกับความเห็นของหัวหน้าพรรคประชาชาติ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ที่มองว่า รัฐสภาควรพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ประชามติให้เสร็จก่อน การที่รัฐบาลขอเรื่องดังกล่าวมาเป็นวาระพิเศษนั้นไม่ถูกต้อง ถ้าหากรัฐบาลขอเป็นกรณีพิเศษได้ เท่ากับว่า”รัฐบาลมีอำนาจเหนือกว่ารัฐสภา” จึงอยากให้ประธานรัฐสภา รักษาเกียรติและศักดิ์ศรี บรรจุวาระตามขั้นตอน เพราะทั้งหมดเป็นอำนาจของประธานสภา

พร้อมขอให้ประชาชน ติดตามการแก้ไขในเรื่องต่างๆอย่างใกล้ชิด และร่วมผลักดันให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นการแก้ไขวิกฤติประเทศ ไม่ใช่แก้เฉพาะพรรคการเมือง หรือรัฐบาล เพราะหากประชาชนไม่สนใจ ปล่อยให้เป็นเรื่องของสภาอาจจะไม่สำเร็จ เสียงของพรรคฝ่ายค้านในสภาไม่อาจแก้ไขได้ เนื่องจากการโหวตเห็นชอบให้แก้ไขรัฐธรรมนูญต้องอาศัยเสียงของ สว. ด้วย

 

บทความที่เกี่ยวข้อง